วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องตี-กรับ)

เป็นเครื่องดนตรีประเภทที่สร้างเสียงดนตรีด้วยการใช้ของสองสิ่งกระทบกัน หรือตีกัน นับว่าเป็นเครื่องดนตรีประเภท เก่าแก่ที่สุดที่ที่มนุษย์รู้จักใช้ ได้มีวิวัฒนาการจากอุปกรณ์ง่ายๆ ให้มี ความหลากหลายออกไปทั้งรูปแบบและวัสดุที่ใช้ สำหรับเครื่องดนตรีไทย ที่เป็นประเภทเครื่องตีมีดังนี้

เครื่องตีที่ทำด้วยไม้

กรับ ทำด้วยไม้หรือโลหะ วิธีตี ใช้มือหนึ่งถือกรับ แล้วตีกรับลงไปบนอีกมือหนึ่งที่รองรับ ทำให้เกิดเสียงกระทบจากแผ่นไม้ หรือแผ่นโลหะดังกล่าว ใช้ตีในการบรรเลงมโหรี โบราณ เล่นเพลงเรือ และโขนละคร

กรับ เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง มีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ กรับคู่ กรับพวง และกรับเสภา

กรับคู่
ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก เหลาให้เรียบและเกลี้ยงอย่าให้มีเสี้ยน มีรูปร่างแบนตามซีกไม้ไผ่ หนาตามขนาดของเนื้อไม้ยาวประมาณ 40 ซม ทำเป็น 2 อันหรือเป็นคู่ ใช้ตีให้ผิวกระทบกันทางด้านแบนเกิดเป็นเสียง กรับ
เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ทำจังหวะประกอบร่วมกับฉิ่ง จัดเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของมวลมนุษยชาติ แรกเริ่มทีเดียวคงพัฒนามาจากการปรบมือของมนุษย์ เมื่อปรบมือนานเข้าคงจะเกิดอาการเจ็บมือ ซ้ำซาก หลังจากนั้นอาจจะพบเศษไม้ใกล้ตัวก็นำมาเคาะ การใช้ไม่เคาะแทนการปรบมือนั้น นอกจากจะไม่เจ็บมือแล้วยังเพิ่มสีสันของเสียงในการบรรเลงอีกด้วย ภายหลังได้นำมาเหลาเพื่อให้เกิดความสวยงามและความสะดวกในการใช้

กรับพวง
เป็นกรับชนิดหนึ่งตอนกลางทำด้วยไม้บางๆหรือแผ่นทองเหลือง หรืองาหลายๆอันและทำไม้แก่น 2 อันเจาะรูตอนหัวร้อยเชือกประกบไว้ 2 ข้างเหมือนด้ามพัด เวลาตีใช้มือหนึ่งถือตรงหัวทางเชือกร้อย แล้วฟาดลงไปบนอีกฝ่ามือหนึ่ง เกิดเป็นเสียงกรับขึ้นหลายเสียง จึงเรียกว่ากรับพวงใช้เป็นอานัตสัญญาณ เช่นในการเสด็จออกในพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าพนักงานจะรัวกรับ และใช้กรับพวงตีเป็นจังหวะ ในการขับร้อง เพลงเรือ ดอกสร้อยและใช้บรรเลงขับร้องในการแสดง นาฎกรรมด้วย

กรับเสภา
ทำด้วยไม้แก่น เช่นไม้ชิงชัน ยาวประมาณ 20 ซม หนาประมาณ 5 ซม เหลาเป็นรูป 4 เหลี่ยมแต่ลบเหลี่ยม ออกเพื่อมิให้บาดมือและให้สามารถกลิ้งตัวของมันเองกลอก กระทบกันได้โดยสะดวก ใช้บรรเลงประกอบในการขับเสภา เวลาบรรเลงผู้ขับเสภาจะใช้กรับเสภา 2 คู่ รวม 4 อัน ถือเรียงกันไว้บนฝ่ามือของตนข้างละคู่ กล่าวขับเสภาไปพลาง มือทั้ง 2 ข้างก็ขยับกรับแต่ละข้างให้กลอกกระทบกันเข้าจังหวะ กับเสียงขับเสภา จึงเรียกกรับชนิดนี้ว่า กรับเสภา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น