วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องตี-ระนาดเอก)



ระนาดเอก

ระนาดเอกเป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ที่วิวัฒนาการมาจากกรับ แต่เดิมคงใช้กรับสองอันตีเป็นจังหวะ ต่อมาก็เกิดความคิดว่า ถ้าเอากรับหลาย ๆ อันวางเรียงราดลงไป แล้วแก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน แล้วทำรางรองอุ้มเสียง และใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่าง ๆ กันนั้นให้ติดกัน และขึงไว้บนรางใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง นำตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งมาถ่วงเสียงโดยนำมาติดหัวท้ายของไม้กรับนั้น ให้เกิดเสียงไพเราะยิ่งขึ้น เรียกไม้กรับที่ประดิษฐ์เป็นขนาดต่างๆกันนั้นว่า ลูกระนาด เรียกลูกระนาดที่ผูกติดกันเป็นแผ่นเดียวกันว่า ผืน

ส่วนประกอบของระนาดเอก

ลักษณะงานดนตรีหรืองานดุริยางคศิลป์นั้นเป็นงานสาขาหนึ่งในงานศิลปะ บริสุทธิ์ จะเห็นได้ว่างานดนตรีกับงานศิลปะนั้นมีความสัมพันธ์และอาศัยซึ่งกันและกัน มีพื้นฐานในด้านความคิดที่สอดคล้องคล้ายคลึงกัน และกล่อมเกลาจิตใจคนให้มีความอ่อนโยนขึ้น ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับดนตรีดูได้จากการออกแบบสร้างเครื่องดนตรี โดยทั่วไปนักดนตรีมักจะเลือกซื้อเครื่องดนตรีชิ้นที่ตนเองชอบ และเลืกเครื่องดนตรีที่มีเสียงดีไว้ก่อน เมื่อได้เครื่องดนตรีที่มีเสียงดีตามต้องการแล้วจึงจะดูลักษณะเครื่องดนตรี ว่าสวยงามหรือไม่ รูปร่างหรือส่วนสัดของเครื่องดนตรีมีความสวยงามเหมาะสมเพียงใด ดังนั้นเครื่องดนตรีไทยทุกชนิดจะมีการประดับด้วยวัสดุที่งดงามและออกแบบลวดลายให้เกิดความสวยงามเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้อ จึงทำให้เกิดงานศิลปะในการประดับตกแต่งลวดลายบนเครื่องดนตรี ดังจะเห็นในส่วนประกอบของระนาดที่จะกล่าวถึงนี้

ส่วนประกอบของระนาดเอกนั้นแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1. รางระนาดเอก
2. ผืนระนาดเอก
3. ไม้ตีระนาด

รางระนาดเอก

รางระนาดเอกแบ่งเป็นส่วนประกอบย่อยๆดังนี้คือ

ตัวรางทำด้วยไม้เนื้อแข็งเช่น ไม้สัก ไม้มะริด ไม้มะเกลือ ไม้ประดู่ เป็นต้น รูปร่างคล้ายเรือสมัยโบราณ คือตอนกลางป่องเป็นกระพุ้งเล็กน้อยเพื่อให้เสียงก้องกังวาน ตอนหัวและท้ายโค้งงอนขึ้นเรียกว่า "ฝาประกบ" มี 2 แผ่น บนขอบรางด้านบนทั้งสองข้างของฝาประกบจะใช้หวายเส้นซึ่งมีผ้าพันโดยรอบ ติดเป็นแนวยาวไว้ตลอด เพื่อรองรับผืนระนาดขณะที่ลดลงจากตะขอเกี่ยว ป้องกันบริเวณใต้ท้องของผืนระนาดมิให้ถูกครูดเป็นรอยได้ง่าย ที่ขอบของฝาประกบด้านนอกจะเซาะร่องเดินเป็นคิ้วไว้เพื่อความสวยงาม นอกจากทาสีที่คิ้วขอบรางแล้ว ที่ไม้ฝาประกบยังเดินเส้นดำหรือขาวไปตามขอบคิ้วรางทั้งด้านล่างและด้านบนรวมไปถึงโขนระนาดด้วย บางรางเดินเส้นเดียวบางรางเดินคู่สองเส้นแล้วแต่รสนิยมของช่างผู้ประดิษฐ์ ต่อมาการสร้างรางระนาดได้มีการพัฒนาให้สวยงามขึ้นอีกโดยทำขอบคิ้ว ซึ่งประกอบด้วยงาช้างหรือตัวรางทั้งหมดแกะเป็น
ลวดลายต่างๆ บางทีก็ประดับลวดลายด้วยมุกหรือแกะลวดลายลงรักปิดทองเป็นต้น

โขนระนาด
เป็นไม้ 2 แผ่นรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ติดประกบไว้ที่หัวและท้ายของไม้ฝาประกบโดยเฉพาะด้านในตอนบนจะติด "ตะขอระนาด" ซึ่งทำด้วยโลหะโค้งงอ สำหรับสอดคล้องเชือกขึงผืนระนาดให้ลอยอยู่บนราง ด้านล่างของรางมีแผ่นไม้บางๆปิดไว้ยาวโดยตลอดเพื่อยึดฝาประกบและโขนให้ติดเข้าด้วยกันเรียกว่า "ไม้ปิดใต้ท้องระนาด" ทำให้อุ้มเสียงและระนาดมีเสียงดังกังวานมากขึ้น

เท้าระนาด (บางทีเรียกฐานระนาด) ทำด้วยไม้หนามีลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมคล้ายฐานของพานรอง ตรงกลางเป็นคอคอดส่วนตอนบนโค้ง
เว้าไปตามท้องราง เท้าระนาดยึดติดอยู่ที่กลางลำตัวของรางระนาดเพื่อให้หัวและท้ายของรางลอยตัวสูงขึ้น ฐานด้านล่างนิยมแกะสลักเป็น"ลายฐานแข้งสิงห์" ทั้ง 4 ด้าน ที่ฝาไม้ประกบตอนบนและตอนล่างจะใช้ไม้ติดประกบโดยตลอดเรียกว่า "คิ้วขอบราง" นิยมทาสีขาวหรือดำเพื่อตัดกับสีของแล็คเกอร์
ซึ่งทาไว้ที่ตัวรางระนาด

ผืนระนาด เดิมทำด้วยไม้ไผ่ตง(นักดนตรีเรียก ไผ่บง) นำมาตัดเหลาด้วยความประณีตเป็นลูกๆ มี 21 ลูก ขนาดลดหลั่นกันตามลำดับเรียกว่า " ผืนระนาด" ใช้แขวนที่ตะขอทั้ง 4 บนโขนระนาด ใต้ลูกระนาดทั้ง 21 ลูกจะติดตะกั่วซึ่งทำด้วย ตะกั่วและขี้ผึ้งผสมกัน เพื่อถ่วงเสียงให้ได้เสียงสูงเสียงต่ำตามต้องการโดยติดไว้ที่ใต้ลูกระนาดตรงด้านล่างของปลายลูกระนาดทั้ง สองข้างๆละ 1 ก้อน จำนวนที่ติดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับเสียงที่ต้องการ ถ้าติดมากเสียงจะต่ำลง ถ้าติดน้อยเสียงจะสูงขึ้น ต่อมาภายหลังนิยมนำ ไม้ชิงชัน หรือ ไม้มะหาด มาเหลาเป็นผืนระนาดได้เสียงเล็ก แหลมกว่าผืนระนาดที่ทำด้วยไม้ไผ่ นอกจากนั้นในสมัยปัจจุบันได้เพิ่มลูกระนาดเอกให้มี 22 ลูก เพื่อให้บรรเลงกับวงปี่พาทย์มอญได้สะดวก แต่ในวงปี่พาทย์เสภาเดิมไม่นิยม เพิ่มลูกระนาดคงใช้เพียง 21 ลูกเท่านั้น เมื่อเกิดวงมโหรีขึ้น เครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ต้องย่อสัดส่วนให้เล็กลงกว่าเดิม เรียกรางชนิดนี้ว่า "รางระนาดมโหรี" ซึ่งมีส่วนประกอบเช่นเดียวกับรางระนาดเดิมทุก อย่างเพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า

ไม้ตีระนาดเอกทำด้วยไม้ไผ่เหลาเป็นท่อนกลมเล็กๆ 2 อัน หัวไม้ตีทำด้วย ด้ายพันด้วยผ้าชุบรัก ลักษณะเป็นปื้นกลมเวลาตีมีเสียงดังแข็งกร้าวเรียกว่า "ไม้แข็ง" อีกแบบทำด้วยผ้าติดตะกั่วเล็กน้อยทาแป้งเปียกแล้วพันด้วยด้ายสีเส้นเล็กๆโดย รอบอย่างสวยงาม เวลาตีมีเสียงทุ้มนุ่มนวลเรียกว่า "ไม้นวม" ใช้ตีกับระนาดเอกในวงปี่พาทย์ไม้ นวมหรือวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์

ลวดลายบนรางระนาดเอก

ลวดลายที่นิยมทำบนรางระนาดเอกมีหลายแบบแต่แยกเป็นประเภทใหญ่ๆได้ ดังนี้คือ

รางระนาดแบบไทย

ไม่นิยมแกะสลักลวดลายแต่จะทำเป็นพื้นเรียบๆ บางครั้ง มีตัวอักษรย่อฝังตรงกลางของฝารางทั้งสองข้างเช่น พระนามย่อของเจ้าฟ้าฯ ชื่อย่อของ สถาบันชื่อย่อของบุคคล หรือชื่อย่อนามสกุลเป็นต้น บางทีก็มีการเดินคิ้วขอบรางหรือขอบโขนระนาดด้วยงาช้างและนิยมใช้งาช้างที่เป็นเนื้อเดียวกันตลอดซึ่งหายากถือกันว่าเป็นงานชิ้นยอด ระนาดบางรางอาจจะต้องนำเศษงาช้างมาต่อกันเพราะไม่สามารถหางาช้างที่เป็นชิ้น เดียวกันทั้งหมดได้ ในกรณีที่ไม่ได้ใช้งาช้างก็จะใช้ไม้ซึ่งมีสีแตกต่างกันเดินคิ้วแทนเช่นพื้นอ่อนคิ้วสีเข้มหรือพื้นเข้มเดินคิ้วด้วยสีอ่อน

รางระนาดแบบของมอญจะนิยมแกะสลักและลงรักปิดทอง เรียกกันว่า รางทอง ซึ่งต่อมีผู้กล่าวกันว่า ระนาดเอกรางทอง ของวงปี่พาทย์ไทยนั้นได้รับอิทธิพลมาจากวงปี่พาทย์มอญภายหลังจึงนำรางทองมาใช้ในวงปี่พาทย์ไทย

รางระนาดแบบฝรั่ง รูปร่างรางระนาดจะแตกต่างจากรางไทยคือมีลักษณะลวด ลายแบบฝรั่งเช่นลาย ดอกพุดตาน ลายดอกไม้ฝรั่ง เป็นต้น รางระนาดเอกซึ่งมีีการออกแบบตกแต่งอย่างสวยงาม

ระนาดเอกเป็นเครื่องดนตรีชิ้นนำของวงปี่พาทย์เพราะไม่ว่าจะเริ่มเล่นเพลง หรือ เปลี่ยนเพลงทั้งวงจะยึดแนวของระนาดเอกเป็นหลัก นอกจากนี้ระนาดเอกยังเป็นเครื่อง ดนตรีหลักในการผสมวงเช่น ปี่พาทย์เครื่องห้า ปี่พาทย์เครื่องคู่ ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ปี่พาทย์มอญ ปี่พาทย์นางหงส์ หรือแม้แต่ในวงมโหรีไม่ว่าจะเป็นมโหรีเครื่องเล็ก มโหรี เครื่องคู่ หรือ มโหรีเครื่องใหญ่ ต่างก็ใช้ระนาดเอกเป็นหลักทั้งสิ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น