วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องเป่า-ขลุ่ย)

เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องเป่า

ขลุ่ย

เครื่องดนตรีที่ทำให้เกิดเสียงจากลมเป่าแต่โบราณ มักจะใช้อุปกรณ์ดังเดิมซึ่งได้จากพืช ได้แก่หลอดไม้ต่าง ๆ และจากสัตว์ ได้แก่ เขาสัตว์ต่างๆ ต่อมาได้มีวิวัฒนาการด้วยการเจาะรูและทำลิ้น เพื่อให้เกิดระดับเสียงได้มาก

ขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีดั้งเดิมของไทย ทำด้วยไม้ไผ่ปล้องยาวๆ ไว้ข้อทางปลายแต่เจาะทะลุข้อย่างไฟให้แห้งแล้วตบแต่งผิวให้ ไหม้เกรียมเป็นลวดลายสวยงาม ด้านหน้าเจาะรูกลมๆเรียงแถวกัน 7 รู สำหรับนิ้วปิดเปิดเสียง ขลุ่ยไม่มีลิ้นเหมือนปี่ แต่เขาใช้ไม้อุดเต็มปล้อง แล้วปาดด้านล่างให้มีช่อง ไม้อุดนี้เรียกว่า ดาก ทำด้วยไม้สักเพราะไม่มีขุยมาบังลม ด้านหลังใต้ดากลงมา เจาะรูเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ปาดตอนล่างเป็นทางเฉียงไม่เจาะ ทะลุตรงเหมือนรูด้านหน้า รูที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้ เรียกว่า รูปากนกแก้ว ใต้รูปากนกแก้วลงมา เจาะรูอีก 1 รู เรียกว่า รูนิ้วค้ำ เพราะเวลาเป่า ผู้เป่าจะใช้หัวแม่มือค้ำปิดเปิดที่รูนี้ เหนือรูนิ้วค้ำด้าน หลัง และเหนือรูบนของรูด้านหน้าทั้งเจ็ดรู แต่อยู่ทางด้านขวา เจาะรูอีกรูหนึ่งเรียกว่า รูเยื่อ เพราะแต่ก่อนจะใช้เยื่อไม้ไผ่ปิดรูนี้ ต่อมาก็ไม่ค่อยได้ใช้ ตรงปลายเลาขลุ่ยจะเจาะรูให้ซ้ายขวา ตรงกันเพื่อร้อยเชื่อก เรียกว่า รูร้อยเชือก ดังนั้น จะสังเกตว่า ขลุ่ย 1 เลา จะมีรูทั้งสิ้น 14 รู

ขลุ่ย นับว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ใกล้ชิดกับคนไทยมากที่สุดชนิดหนึ่ง คนทั่ว ๆ ไปนิยมเป่าขลุ่ยมากกว่าเล่นดนตรีชนิดอื่น หรือแม้แต่คนในวงการ ดนตรีไทย ที่เล่นเครื่องดนตรีชนิดอื่นก็มักเป่าขลุ่ยด้วย เนื่องจากขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีที่สามารถนำติดตัวได้สะดวกเสียงไพเราะการหัดในเบื้องต้น ไม่สู้ยากนัก โดยทั่วไปคนมักเข้าใจว่าขลุ่ยนั้นเล่นง่าย แต่ความจริงแล้วสิ่งที่เราเห็นว่าง่ายที่สุดกลับเป็นสิ่งที่เล่นยากที่สุด คนที่เป่าขลุ่ยได้ดีในปัจจุบันจึงหาได้ยากนักดนตรีจึงขาดครูผู้แนะนำไปด้วย

ขลุ่ยไทยมีหลักฐานว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่ไทยยังตั้งหลักฐานที่ตอนใต้ของ จีน คือ มลฑลยูนนานของจีนในปัจจุบัน สมัยสุโขทัยมีการกล่าวถึงเสียงพิณ เสียงพาทย์ แต่กลับไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับขลุ่ยไทยในหลักศิลาจารึก ขลุ่ยไทยมีปรากฏชัดเจนในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ว่า "ชาวดนตรีคอยฟังสุรเสียง ครั้นเสร็จ ขลุ่ยนำเพลง" และหลังจากนั้น ขลุ่ยไทยปรากฏว่ามีการใช้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนประกอบของขลุ่ย มีดังนี้

เลาขลุ่ย คือ ตัวขลุ่ย มีขนาดแตกต่างกันไปตามชนิดของขลุ่ย มักนิยมประดิษฐ์ลวดลายต่าง ๆ ลงบนตัวขลุ่ย เช่น ลายดอกพิกุล ลายหิน และลายลูกระนาด เป็นต้น
ดาก คือ ไม้อุดปากขลุ่ย นิยมใช้ในไม้สักทอง เหลากลมให้คับแน่นกับร่องภายในของปากขลุ่ย ฝานให้เป็นช่องว่าง ลาดเอียงตลอดชิ้นดาก ให้เป่าลมผ่านไปได้
รูเป่า เป็นรูสำหรับเป่าลมเข้าไป
รูปากนกแก้ว เป็นรูที่เจาะร่องรับลม จากปลายดากภายในขลุ่ย อยู่ด้านเดียวกับรูเป่า อยู่สุดปลายดากพอดี เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปากนกแก้วนี้ทำให้เกิดเสียง เทียบได้กับลิ้นของขลุ่ย
รูเยื่อ เป็นรูสำหรับบิดวัสดุที่ทำให้เสียงสั่นพริ้ว มักใช้เยื่อไม้ไผ่ หรือเยื่อหัวหอมปิด อยู่ด้านขวามือ
รูค้ำ หรือรูนิ้วค้ำ เป็นรูสำหรับให้นิ้วหัวแม่มือปิด เพื่อบังคับเสียง และประคองเลาขลุ่ยขณะเป่า อยู่ด้านล่างเลาขลุ่ย ต่อจากรูปากนกแก้วไปทางปลายเลาขลุ่ย
รูบังคับเสียง เป็นรูที่เจาะเรียงอยู่ด้านบนของเลาขลุ่ย มีอยู่ ๗ รู ด้วยกัน
เชือกร้อยรู มี ๔ รู หรือ ๒ รูก็ได้ อยู่ทางส่วนปลายของเลาขลุ่ย โดยการเจาะทะลุบน-ล่าง และ ซ้าย-ขวา ให้เยื้องกันในแต่ละคู่ เสียงขลุ่ยเกิดจากเป่าลม และใช้นิ้วมือปิดเปิดรูบังคับเสียง

ประเภทของขลุ่ย

โดยทั่วไปขลุ่ยไทย อาจจำแนกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้

ขลุ่ยหลิบหรือขลุ่ยหลีกหรือขลุ่ยกรวด
เป็นขลุ่ยขนาดเล็กเสียงสูงกว่าขลุ่ยเพียงออเป็นคู่สี่ ใช้ในวงมโหรีเครื่องคู่ เครื่องใหญ่ และวงเครื่องสายเครื่องคู่โดยเป็นเครื่องนำในวงเช่นเดียวกับระนาดหรือซอด้วง นอกจากนี้ยังใช้ในวงเครื่องสายปี่ชวาเพราะขลุ่ยหลิบมีเสียงตรงกับเสียงชวา โดยบรรเลงเป็นพวกหลังเช่นเดียวกับซออู้

ขลุ่ยเพียงออ
เป็นขลุ่ยที่มีระดับเสียงอยู่ในช่วงปานกลาง คนทั่วไปนิยมเป่าเล่น ใช้ในวงมโหรีหรือเครื่องสายทั่ว ๆ ไป โดยเป็นเครื่องตามหรืออาจใช้ในวงเครื่องสายปี่ชวาก็ได้แต่เป่ายากกว่าขลุ่ย หลิบเนื่องจากเสียงไม่ตรงกับเสียงชวาเช่นเดียวกับนำ

ขลุ่ยหลิบมาเป่าในทางเพียงออต้องทดเสียงขึ้นไปให้เป็นคู่ 4 นอกจากนี้ยังใช้ในวงปี่พาทย์ไม้นวมแทนปี่อีกด้วย โดยบรรเลงเป็นพวกหน้า

ขลุ่ยอู้
เป็นขลุ่ยขนาดใหญ่เสียงต่ำกว่าขลุ่ยเพียงออสามเสียง ใช้ในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งต้องการเครื่องดนตรีที่มีเสียงต่ำเป็นพื้น นอกจากนี้ในอดีตยังใช้ในวงมโหรีเครื่องใหญ่ ปัจจุบันไม่ได้ใช้เนื่องจากหาคนเป่าที่มีความชำนาญได้ยาก

ขลุ่ยอู้ของโบราณจะมีเจ็ดรู (รวมรูนิ้วค้ำ) แต่ในปัจจุบันมีผู้คิดทำเพิ่มขึ้นเป็นแปดรู โดยเพิ่มรูที่ใช้นิ้วก้อยล่างขึ้นอีกรูหนึ่ง

ขลุ่ยอู้ปัจจุบันนี้หายากเนื่องจากต้องใช้ไม้ไผ่ที่มีขนาดใหญ่ ปล้องยาก ซึ่งหาได้ยาก

ขลุ่ยเคียงออ
เป็นขลุ่ยที่มีเสียงสูงกว่าขลุ่ยเพียงออหนึ่งเสียง ซึ่งตรงกับเสียงปี่ใน ใช้ในวงปี่พาทย์ไม้นวมเป็นเครื่องนำแทนปี่ ซึ่งอาจมีเสียงดังเกินไปใช้เล่นเพลงตับต่างๆแต่ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยได้รับ ความนิยมมากนัก

ขลุ่ยรองออ
เป็นขลุ่ยที่มีขนาดใหญ่กว่าและเสียงต่ำกว่าขลุ่ยเพียงออหนึ่งเสียงเสียงตรง กับเสียงปี่นอกต่ำอาจใช้ในวงมโหรีแทนขลุ่ยเพียงออในกรณีที่ต้องการเสียงต่ำ กว่าธรรมดา ปัจจุบันนี้ไม่ได้นำมาใช้เนื่องจากขาดคนเป่าที่มีความชำนาญ

ขลุ่ยอื่น ๆ
ในระยะหลังในวงเครื่องสายได้นำเครื่องดนตรีตะวันตกเข้ามาเล่นร่วมด้วย เรียกว่าวงเครื่องสายผสม เช่น เปียโน ออร์แกน จึงมีผู้คิดทำขลุ่ยให้เข้ากับเสียงดนตรีเหล่านี้
ซึ่งต้องปรับเสียงเครี่องดนตรีไทยให้สูงขึ้นเกือบ 1 เสียง ฉะนั้นจึงต้องผลิตขลุ่ยให้มีระดับเสียงดังกล่าวดัวย และเนื่องจากนิยมผสมด้วยออร์แกนมากกว่าเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ จึงเรียกติดปากตามเครื่องดนตรีที่มาผสมว่า “ขลุ่ยออร์แกน”


หลักการเป่าขลุ่ย

การเล่นเครื่องดนตรีของไทยทุกชนิด นักดนตรีต้องสำรวมกิริยามารยาท ปฎิบัติให้เรียบร้อยให้ความเคารพต่อครูบาอาจารย์ เครื่องดนตรีผู้ฟัง ตลอดจนนักดนตรีด้วยกันเอง การนั่งเป่าขลุ่ยหรือปี่ ต้องนั่งตัวตรงเพื่อให้ลมเดินสะดวก ถ้านั่งกับพื้นควรนั่งพับเพียบ

ท่าจับ
การจับขลุ่ยหรือปี่นั้น แต่โบราณมาจะจับเอามือฃวาอยู่ข้างบนมือซ้าย ซึ่งสันนิษฐานว่าคนส่วนใหญ่ถนัดการใช้มือขวามากกว่ามือซ้าย การเป่าขลุ่ยหรือปี่ มือที่อยู่ด้านบนจะใช้มากกว่ามือที่อยู่ด้านล่าง ในการจับจึงควรจับมือขวาอยู่ด้านบน แต่ถ้าถนัดมือซ้ายก็ไม่ผิดแต่อย่างได้ แต่ก็ควรคำนึงถึงเอกลักษณ์ไว้บ้าง

ท่านั่ง
สำหรับที่นั่งของขลุ่ยในการบรรเลงในวงนั้น ถ้าเป็นวงปี่พาทย์ไม้นวม ควรนั่งด้านขวาของฆ้องใหญ่ เพราะฆ้องใหญ่เป็นหลักของวง เครื่องดนตรีอื่นควรนั่งอยู่รอบ ๆ ถ้าเป็นวงอื่น เช่น วงเครื่องสาย ควรนั่งข้างซอด้วง วงมโหรีก็ควรนั่งข้างซอด้วงเข่นกัน แต่ถ้ามีขลุ่ยหลิบก็อาจแยกกันได้ โดยปกติไม่ควรนั่งข้างซออู้ เพราะซออู้เสียงดัง สีตบหน้าตบหลัง ที่นั่งของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด จะมีอิทธิพลต่อเสียงรวมที่ออกมามาก ถ้านั่งที่ไม่เหมาะสมเสียงดนตรีรวมจะไม่ดีเท่าที่ควร อีกประการหนึ่งการนั่งที่เป็นหลักแหล่งของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด จะทำให้ผู้ดูสามารถรู้ว่าที่ตรงนั้น เป็นเครื่องดนตรีอะไร เพราะบางทีอยู่ไกลไม่สามารถมองเห็นเครื่องดนตรีที่เล่น

วิธีเป่า

ใช้ริมฝีปากแตะเลาขลุ่ย ใช้ลมตรงจากปอด และลมที่มาจากกระพุ้งแก้ม ในลักษณะเหมือนผิวปาก ขณะเป่าลมเข้าไปในรูเป่า นิ้วมือทั้งสองข้าง จะกดรูให้มิด เสียงขลุ่ยจะดังออกมาตามระดับเสียง มีลักษณะที่เป่าเป็นพื้นฐานดังนี้

1. การเป่าตอด คือการใช้ลมเป่าตัดที่เป็นช่วงๆไปตามหน่วยเสียงที่ต้องการ และเป่าลมเปล่า

2. การเป่าลมเปล่า คือคือการใช้ลมเป่าเข้าไปในลักษณะยาว เบา แรง หรือหยุดเสียง

หลักการเป่าทั้ง 2 อย่างจะทำให้เกิดเสียงและวิธีการดังนี้

- เป่าเก็บ คือการเป่าที่มีพยางค์ถี่ติดกันโดยตลอด จนเกิดเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่เรียกว่า" ทางขลุ่ย "

- เป่าโหย คือคือการเป่าที่มีเสียงยาวๆ ลดเลื่อนระดับเชื่อมโยงกับเสียงอื่นๆได้อย่างสนิทสนม

- เป่าตอด คือการเป่าที่ใช้ลิ้นตัดลมเป็นช่วงๆ ไปตามหน่วยเสียงที่ต้องการ

- เป่าพรม คือการเป่าให้มีพยางค์ถี่ๆโดยการ ปิดเปิดรูเร็วๆ

- เป่าปริบ คือการเป่าบังคับลม และนิ้วให้เกิดเสียงสั่น ในลักษณะสั้น

- เป่าครั่น คือการเป่าที่ทำให้เสียงสะดุด หรือสั่นสะเทือน ด้วยการบังคับลมให้สะเทือนมาจากลำคอ เช่นเดียวกับครั่นในการร้อง


การเลือกซื้อขลุ่ย


เมื่อต้องการซื้อขลุ่ยสักเลา ทุกคนต้องการขลุ่ยที่ดีและมีคุณภาพมากที่สุด ฉะนั้นจึงต้องมีหลักในการเลือก ดังนี้
  • เป่าแล้วกินลมน้อย
  • ผลิตด้วยไม้ที่แก่จัด ตัวเลาขลุ่ยไม่โค้งงอ
  • ดากทำด้วยไม้สักทอง
  • รูขลุ่ยต้องคว้านให้รูภายในใหญ่กว่ารูภายนอก
  • มีลายประณีต สีสันสวยงาม
  • สามารถเป่าเสียงแหบสูงได้อย่างน้อย 3 เสียง
  • เสียงกดนิ้วปกติไม่เพี้ยน นิ้วควงไม่เพี้ยน


การดูแลรักษาขลุ่ย
ขลุ่ยถ้าทิ้งไว้นาน ๆ จะแห้ง ดากจะหดตัวลง ทำให้เป่าเสียงไม่ใส การที่จะให้ขลุ่ยเสียงดี พระยาภูมีเสวินได้ให้คำแนะนำว่า ให้นำขลุ่ยแช่น้ำผึ้งให้ท่วมปากนกแก้ว น้ำผึ้งจะช่วยให้ขลุ่ยชุ่มอยู่เสมอและขยายตัว ไม่มีช่องที่ลมจะรั่วได้ หรืออีกวิธีหนึ่งทำโดย นำขลุ่ยไปแช่ในน้ำตาลสดหรือน้ำตาลเมาหลาย ๆ วัน จะทำให้เนื้อได้อยู่ตัว มอดไม่รบกวน นอกจากนี้ควรระวังด้านอื่น ๆ คืออย่าให้ถูกความร้อนนาน ๆ ไม่ควรเอาไม้หรือวัสดุอื่นแหย่เข้าไปใน ปากนกแก้ว เพราะอาจทำให้แง่ของดากภายในบิ่น เสียงจะเสียไปได

ลายขลุ่ยไทยที่พบในปัจจุบัน เท่าที่สืบค้นได้มีดังนี้
1. ขลุ่ยลายดอกจิก
2. ขลุ่ยลายกระจับ
3. ขลุ่ยลายหิน
4. ขลุ่ยลายสอง
สำหรับขลุ่ยพลาสติกที่ผลิตขายในท้องตลาดทั้งที่มีลายและไม่มีลาย จะไม่กล่าวถึงในที่นี้ ส่วนขลุ่ยไม้ที่กลึงขึ้นจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สัก ไม้มะเกลือ ไม้ดำดง ฯ ล ฯ จะมีลายเป็นไปตามธรรมชาติของสี และลายไม้แต่ละชนิด