วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องตี-ฆ้อง)

ฆ้อง เป็นเครื่องดนตรีประเภทเพอร์คัชชันทำด้วยโลหะที่มีหลายรูปแบบ คำว่า "ฆ้อง" นั้นมีที่ว่าจากภาษาชวา ปรากฏการใช้ฆ้องในหลายชาติในทวีปเอเชีย เช่น จีน อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย เป็นต้น ปัจจุบันฆ้องเข้าไปมีส่วนในดนตรีตะวันตกด้วยเช่นกัน

ฆ้อง มีหลายขนาดและประเภท บางชนิดเป็นเพียงเครื่องตีให้สัญญาณ เช่น ฆ้องกระแต ใช้ตีบอกสัญญาณเข้าเวรยาม, ฆ้องชัย ใช้ตีบอกสัญญาณในกองทัพสมัยโบราณ เป็นต้น บางท้องถิ่นเรียกว่า โหม่งด้วยโลหะ

ตัวฆ้องทำด้วยโลหะแผ่นรูปวงกลมตรงกลางทำเป็นปุ่มนูน เพื่อใช้รองรับการตีให้เกิดเสียงเรียกว่า ปุ่มฆ้อง ต่อจากปุ่มเป็นฐานแผ่ออกไป แล้วงองุ้มลงมาโดยรอบเรียกว่า "ฉัตร" ส่วนที่เป็นพื้นราบรอบปุ่มเรียกว่า "หลังฉัตร" หรือ " ชานฉัตร" ส่วนที่งอเป็นขอบเรียกว่า "ใบฉัตร" ที่ใบฉัตรนี้จะมีรูเจาะสำหรับร้อยเชือกหรือหนังเพื่อแขวนฆ้อง ถ้าแขวนตีทางตั้งจะเจาะสองรู ถ้าแขวนตีทางนอนจะเจาะสี่รู

การบรรเลง ฆ้องใช้ในการบรรเลงได้สองลักษณะคือ ใช้ตีกำกับจังหวะ และใช้ตีดำเนินทำนอง
ฆ้องที่ใช้ตีกำกับจังหวะได้แก่ ฆ้องหุ่ย หรือฆ้องชัย ฆ้องโหม่ง ฆ้องเหม่ง ฆ้องระเบ็ง และฆ้องคู่
ฆ้องที่ใช้ตีดำเนินทำนอง ได้แก่ ฆ้องราง ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ฆ้องมโหรี ฆ้องมอญ ฆ้องกะแตและฆ้องหุ่ย หรือฆ้องชัย ฆ้องกะแต ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ ลูกฆ้องมีขนาดเล็ก จำนวน ๑๑ ลูก

ฆ้องมโหรี
ฆ้องมโหรี เป็นฆ้องวงที่ใช้บรรเลงในวงมโหรีโดยเฉพาะ มีอยู่สองขนาด คือฆ้องวงใหญ่มโหรีและฆ้องวงเล็กมโหรี ฆ้องวงใหญ่มโหรีเดิมมีลูกฆ้อง ๑๗ ลูก ต่อมานิยมใช้ ๑๘ ลูก

ฆ้องมอญ
เป็นฆ้องวงที่ตั้งโค้งขึ้นไปทั้งสองข้าง ไม่วางราบไปกับพื้นเหมือนกับฆ้องไทย วงฆ้องส่วนที่โค้งขึ้นไปนั้น แกะสลักเป็นลวดลายปิดทองประดับกระจกอย่างงดงาม ส่วนมากมักแกะเป็นรูปกินนร เรียกกันว่าหน้าพระ ตอนกลางโค้งแกะเป็นกระหนกใบเทศปิดทองประดับกระจกเช่นกัน มีเท้ารองตรงกลางเหมือนกับเท้าของระนาดเอก ฆ้องมอญวงหนึ่งๆมีจำนวน 15 ลูก สำหรับใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ วงฆ้องมอญมี 2 ชนิดเช่นเดียวกับฆ้องไทย คือมีฆ้องมอญใหญ่ และ ฆ้องมอญเล็ก

ฆ้องระเบ็ง

ฆ้องระเบ็ง ใช้ตีประกอบการและแสดงระเบ็ง ชุดหนึ่งมีสามลูก มีขนาดและให้เสียงสูง-ต่ำ ต่างกัน มีชื่ออีกอย่างหนึ่งตามลักษณะว่า "ฆ้องราว" ฆ้องราง ใช้ตีดำเนินทำนอง ชุดหนึ่งมี ๗-๘ ลูก เสียงลูกที่ ๑ กับลูกที่ ๘ เป็นเสียงเดียวกัน แต่ต่างระดับเสียง ปัจจุบันไม่มีการใช้ในวงดนตรีไทย

ฆ้องวงใหญ่

เป็นเครื่องดนตรีที่คิดประดิษฐ์ขึ้นมาจากฆ้องเดี่ยว ฆ้องคู่ และฆ้องราว วงฆ้องใช้ต้นหวายโป่งทำเป็นร้าน สูงประมาณ 24 ซม ระหว่างหวายเส้นนอกกับหวายเส้นในห่างกันประมาณ 14 – 17 ซม ดัดให้โค้งเป็นวงรอบตัวคนนั่งตี เปิดช่องด้านหลังคนตีเป็นทางเข้า ระยะห่างประมาณ 20 – 30 ซม วงฆ้องต้องดัดให้พอดีสำหรับคนเข้าไปนั่ง่ตีได้ไม่อึดอัด ลูกฆ้องวงหนึ่งมี 16 ลูก ลูกเสียงต่ำสุดเรียกว่า ลูกทวน ลูกเสียงสูงสุดเรียกว่า ลูกยอด ลูกต้นวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 17 ซม อยู่ทางซ้ายมือด้านหลังผู้ตี ลูกยอดวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 ซม อยู่ทางขวามือด้านหลังผู้ตี ไม้ตีทำด้วยแผ่นหนังดิบ ตัดเป็นวงกลมเจาะกลางสอดด้ามไม้สำหรับถือ


ฆ้องวงเล็ก

เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีขนาดย่อมกว่าฆ้องวงใหญ่ วัดจากขอบวงในด้านซ้ายมือถึงของวงในด้านขวา กว้างประมาณ 80 ซม. เรือนฆ้องสูง 20 ซม. ฆ้องวงเล็กมีทั้งหมด 18 ลูก: ลูกต้น วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 13 ซม., ลูกยอด มีขนาดประมาณ 9.5 ซม. ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์ โดยในวงปี่พาทย์วงหนึ่งนั้น จะใช้ฆ้อง 2 วง คือ ฆ้องวงใหญ่ และ ฆ้องวงเล็ก


ฆ้องหุ่ย

ฆ้องหุ่ย ใช้ตีกำกับจังหวะ เป็นฆ้องที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในวงดนตรีไทย มีอีกชื่อว่า ฆ้องชัย อาจเป็นเพราะสมัยโบราณ ใช้ฆ้องชนิดนี้ตีเป็นสัญญาณในกองทัพ ปัจจุบันใช้ตีใน งานพิธี งานมงคลต่าง ๆ

ฆ้องโหม่ง

ฆ้องโหม่ง ใช้ตีกำกับจังหวะ มีขนาดใหญ่ รองลงมาจากฆ้องหุ่ย ได้ชื่อนี้ตามเสียงที่เกิดจากการตี



ฆ้องที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา

ปัจจุบัน ฆ้องถูกนำไปใช้ร่วมกับพิธีกรรมต่างๆ โดยนิยมซื้อไปถวายวัด เพราะเชื่อกันว่าจะ ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดัง ปัจจุบัน แหล่งผลิต ฆ้องของประเทศไทย อยู่ที่บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มีมากมายหลายขนาด จัดเป็นสินค้าโอทอป ของตำบล โดย ฆ้อง จะมีโฉลก แบ่ง ตามความเชื่อของชาวอิสาน ดังนี้

- สิทธิชัยมังคลโชค

- ตีอวดโลกป่าวเดียวดาย

-เสียงดังไกลบ่มั่ว

- เสียงดังทั่วเท่าแผ่นธรณี

-แสน มเหสีมานั่งเฝ้า

- เป็นเจ้าแผ่นทองเหลือง

- แห่ขุนเมืองขึ้นนั่งแท่น

- แสนขุนแหล่นมาเต้า

- ตีโอนอ้าวเสพขอนผี

- นางธรณีตกใจกลัวสะท้าน

- ตีออกบ้านผามเอาชัย

โฉลกนิยมใช้มือคืบ กำปั้น ทางภาคอีสานใช้กำปั้นเรียงตามโฉลก 11 โฉลก

ฆ้องในวงออร์เคสตรา

บางครั้งเรียกว่าแทมแทม (tam-tam มีที่มาจากภาษาจีน)
มีลักษณะเป็นฆ้องแบบแบน ไม่มีระดับเสียง มีได้หลายขนาด ฆ้องสามารถให้ได้ทั้งเสียงนุ่มลึกลับ และเสียงที่ดังกร้าว ขึ้นอยู่กับวิธีการตี ตำแหน่งการตีที่ดีที่สุดอยู่ที่บริเวณโดยห่างจากจุดศูนย์กลางเล็กน้อย ไม้สำหรับตีฆ้องเป็นไม้หัวนุ่ม

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องตี-กรับ)

เป็นเครื่องดนตรีประเภทที่สร้างเสียงดนตรีด้วยการใช้ของสองสิ่งกระทบกัน หรือตีกัน นับว่าเป็นเครื่องดนตรีประเภท เก่าแก่ที่สุดที่ที่มนุษย์รู้จักใช้ ได้มีวิวัฒนาการจากอุปกรณ์ง่ายๆ ให้มี ความหลากหลายออกไปทั้งรูปแบบและวัสดุที่ใช้ สำหรับเครื่องดนตรีไทย ที่เป็นประเภทเครื่องตีมีดังนี้

เครื่องตีที่ทำด้วยไม้

กรับ ทำด้วยไม้หรือโลหะ วิธีตี ใช้มือหนึ่งถือกรับ แล้วตีกรับลงไปบนอีกมือหนึ่งที่รองรับ ทำให้เกิดเสียงกระทบจากแผ่นไม้ หรือแผ่นโลหะดังกล่าว ใช้ตีในการบรรเลงมโหรี โบราณ เล่นเพลงเรือ และโขนละคร

กรับ เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง มีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ กรับคู่ กรับพวง และกรับเสภา

กรับคู่
ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก เหลาให้เรียบและเกลี้ยงอย่าให้มีเสี้ยน มีรูปร่างแบนตามซีกไม้ไผ่ หนาตามขนาดของเนื้อไม้ยาวประมาณ 40 ซม ทำเป็น 2 อันหรือเป็นคู่ ใช้ตีให้ผิวกระทบกันทางด้านแบนเกิดเป็นเสียง กรับ
เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ทำจังหวะประกอบร่วมกับฉิ่ง จัดเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของมวลมนุษยชาติ แรกเริ่มทีเดียวคงพัฒนามาจากการปรบมือของมนุษย์ เมื่อปรบมือนานเข้าคงจะเกิดอาการเจ็บมือ ซ้ำซาก หลังจากนั้นอาจจะพบเศษไม้ใกล้ตัวก็นำมาเคาะ การใช้ไม่เคาะแทนการปรบมือนั้น นอกจากจะไม่เจ็บมือแล้วยังเพิ่มสีสันของเสียงในการบรรเลงอีกด้วย ภายหลังได้นำมาเหลาเพื่อให้เกิดความสวยงามและความสะดวกในการใช้

กรับพวง
เป็นกรับชนิดหนึ่งตอนกลางทำด้วยไม้บางๆหรือแผ่นทองเหลือง หรืองาหลายๆอันและทำไม้แก่น 2 อันเจาะรูตอนหัวร้อยเชือกประกบไว้ 2 ข้างเหมือนด้ามพัด เวลาตีใช้มือหนึ่งถือตรงหัวทางเชือกร้อย แล้วฟาดลงไปบนอีกฝ่ามือหนึ่ง เกิดเป็นเสียงกรับขึ้นหลายเสียง จึงเรียกว่ากรับพวงใช้เป็นอานัตสัญญาณ เช่นในการเสด็จออกในพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าพนักงานจะรัวกรับ และใช้กรับพวงตีเป็นจังหวะ ในการขับร้อง เพลงเรือ ดอกสร้อยและใช้บรรเลงขับร้องในการแสดง นาฎกรรมด้วย

กรับเสภา
ทำด้วยไม้แก่น เช่นไม้ชิงชัน ยาวประมาณ 20 ซม หนาประมาณ 5 ซม เหลาเป็นรูป 4 เหลี่ยมแต่ลบเหลี่ยม ออกเพื่อมิให้บาดมือและให้สามารถกลิ้งตัวของมันเองกลอก กระทบกันได้โดยสะดวก ใช้บรรเลงประกอบในการขับเสภา เวลาบรรเลงผู้ขับเสภาจะใช้กรับเสภา 2 คู่ รวม 4 อัน ถือเรียงกันไว้บนฝ่ามือของตนข้างละคู่ กล่าวขับเสภาไปพลาง มือทั้ง 2 ข้างก็ขยับกรับแต่ละข้างให้กลอกกระทบกันเข้าจังหวะ กับเสียงขับเสภา จึงเรียกกรับชนิดนี้ว่า กรับเสภา

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องสี)

เครื่องสี

เป็นเครื่องสายที่ทำให้เกิดเสียงด้วยการใช้คันชักสีเข้ากับสายในดนตรีไทย
มีอยู่ 3 ชนิดคือ
  1. ซอด้วง
  2. ซอสามสาย
  3. ซออู้

ซอด้วง
เป็นซอชนิดหนึ่งของไทย ให้เสียงสูงแหลม การที่ได้ชื่อนี้เพราะส่วนที่เป็นเครื่องอุ้มเสียง มีรูปร่างคล้ายเครื่องดักสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ด้วง

ซอด้วงเป็นซอสองสาย มีคันทวนยาวประมาณ 72 ซม คันชักยาวประมาณ 68 ซม ใช้ขนหางม้าประมาณ 120 – 150 เส้น กะโหลกของซอด้วงนั้น แต่เดิมใช้กระบอกไม้ไผ่มาทำ ปากกระบอกของซอด้วงกว้างประมาณ 7 ซม ตัวกระบอกยาวประมาณ 13 ซม กะโหลกของซอด้วงนี้ ในปัจจุบันใช้ไม้จริง หรือ งาช้างทำก็ได้ แต่ที่นิยมว่าเสียงดีนั้น กะโหลกซอด้วงต้องทำด้วยไม้ลำเจียก ส่วนหน้าซอนิยมใช้หนัง งูเหลือมขึง เพราะทำให้เกิดเสียงแก้วเกิดความไพเราะอย่างยิ่ง ลักษณะขอซอด้วง มีรูปร่างเหมือนกับซอของจีนที่เรียกว่า “ฮู – ฉิน “ (Huchin) ทุกอย่าง


ส่วนประกอบของซอด้วง มีดังนี้

กระบอก เป็นส่วนที่อุ้มเสียงให้เกิดกังวาน รูปร่างเหมือนกระบอกไม้ไผ่ ทำด้วยไม้เนื้อแข็งบางทีทำด้วยงาช้าง ไม้ที่ใช้ทำต่างชนิดกันจะให้คุณภาพเสียงต่างกัน เช่น เสียงนุ่ม เสียงกลม เสียงแหลม เป็นต้น ด้านหน้าของกระบอกมีวัสดุบาง ๆ ขึงปิด นิยมใช้หนังงูเหลือม นอกนั้นอาจเป็นหนังลูกวัว หนังแพะ หรือใช้กระดาษว่าวปิดซ้อนกันหลาย ๆ ชั้นก็ได้

คันซอ ทำด้วยไม้หรืองาช้าง ลักษณะกลมยาว สอดปักที่กระบอกตั้งตรงขึ้นไป แบ่งออกเป็น ๒ ช่วง ช่วงบนตั้งแต่ใต้ลูกปิดขึ้นไปจนถึงปลายคัน รูปร่างคล้ายโขนเรือ เรียกว่า "โขน" ปลายโอนโค้งงอนไปทางด้านเปิดของกระบอก ช่วงล่วงนับตั้งแต่ลูกบิดลงไปเรียกว่า "ทวนล่าง"

ลูกบิด มีอยู่สองลูก เสียบอยู่ที่ช่วงล่างของโขน ปลายลูกบิดเจาะรูไว้สำหรับร้อยสายซอ เพื่อขึงให้ตึงตามที่ต้องการ ลูกบิดลูกบน สำหรับสายเสียงต่ำ เรียกว่า ลูกบิดสายทุ้ม ลูกบิดลูกล่าง สำหรับสายที่มีเสียงสูง เรียกว่า ลูกบิดสายเอก

รัดอก เป็นบ่วงเชือกสำหรับรั้งสายซอ นิยมใช้ขนาดเดียวกับสายเอก ใช้ผูกรั้งสายซอทั้งสองเข้ากับทวนล่าง

หย่อง เป็นไม้ชิ้นเล็กใช้หมุนสายซอให้พ้นขอบกระบอก และเป็นตัวรับความสั่นสะเทือนจากสายซอไปสู่หน้าซอ

คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งหรืองาช้าง รูปโค้ง ด้ามมือจับมีหมุดสำหรับให้เส้นหางม้าคล้อง อีกด้านหนึ่งเจาะรูไว้ร้อยเส้นหางม้า ซึ่งมีประมาณ 250 เส้น สอดเส้นหางม้าให้อยู่ภายในระหว่างสายเอกกับสายทุ้ม สำหรับสี การเทียบเสียง เทียบเสียงให้ตรงกับเสียงขลุ่ยเพียงออ ทั้งสายเอกและสายทุ้ม โดยใช้สายเอกเป็นหลัก



ซอสามสาย
มีขนาดใหญ่กว่าซอด้วงหรือซออู้ และมีลักษณะพิเศษ คือมีสามสาย มีคันชักอิสระ กะโหลกซอมีขนาดใหญ่ นับเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสง่างามชิ้นหนึ่งในวงเครื่องสาย ผู้เล่นจะอยู่ในตำแหน่งด้านหน้าของวง ปรากฏหลักฐานจากจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ (หน้า 30) ที่บันทึกไว้ว่า “….ชาวสยามมีเครื่องดุริยางค์เล็กๆ น่าเกลียดมาก มีสามสายเรียกว่า “ซอ” ….” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนนั้น มีการเล่นซอสามสายแล้ว และลักษณะรูปร่างของซอสามสายก็คงจะยังไม่สวยงามมากอย่างในปัจจุบันนี้

จนมาถึงยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 สืบเนื่องมาจากที่พระองค์ท่านมีอัจฉริยภาพในทางศิลปะด้านต่างๆ และโปรดทรงซอสามสายเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้พระองค์ท่านได้ประดิษฐ์คิดสร้างซอสามสายได้ด้วยความประณีต งดงาม และเป็นแบบอย่างมาจนถึงปัจจุบัน

ซอสามสาย จึงเป็นซอชนิดหนึ่งที่มีเสียงไพเราะ นุ่มนวล รูปร่างวิจิตรสวยงามกว่าซอชนิดอื่น ถือเป็นเครื่องดนตรีชั้นสูง ใช้ในราชสำนัก

ส่วนประกอบของซอสามสาย มีดังนี้

กะโหลก ทำด้วยกะลามะพร้าว ตัดตามด้านขวาง ด้านหน้าต่อติดกับกรอบไม้เนื้อแข็ง เดิมนิยมใช้ไม้สักเรียกว่า "ขนงไม้สัก" มีรูปร่างคล้ายกรอบหน้านาง ใช้หนังลูกวัวหรือหนังแพะขึงปิดทับขอบขนงไม้สักและขอบกะลาให้ตึงพอดี

คันซอ แบ่งออกเป็นสามส่วน คือ
  • ทวนบน คือ ส่วนที่นับจากรอบต่อเหนือรัดอกขึ้นไป
  • ทวนกลาง คือ ส่วนต่อจากทวนบนลงมาถึงกะโหลก
  • ทวนล่างหรือแข้งไก่ คือ ส่วนที่ต่อจากกะโหลก ลงไปรวมทั้งเข็มที่ทำด้วยโลหะ ซึ่งอยู่ปลายล่างสุด

ลูกบิด มีสามลูก ลูกล่างสำหรับสายเอก ลูกบนสำหรับสายกลาง สองลูกนี้อยู่ทางขวา ทางซ้ายมีลูกเดียว สำหรับสายทุ้ม หรือสายสาม

รัดอก มักใช้สายไหมฟั่นเกลียวแบบสายซอ พันรอบทวนกลาง ใช้รัดสายทั้งสาม ให้แนบเข้ากับทวนกลาง เพื่อให้เสียงของสายเปล่าได้ระดับและมีความกังวาน

หย่อง ทำด้วยไม้หรืองา เหลาเป็นรูปคันธนูให้ได้ขนาดพอรับสายซอทั้งสามสาย บนหย่องบากร่องไว้ สามตำแหน่ง เพื่อรองรับสายซอ

ถ่วงหน้า ทำด้วยแก้วหรือโลหะ ขึ้นรูปเป็นตลับกลมเล็ก ๆ ข้างบนประดับพลอยสีต่าง ๆ หรือถม หรือลงยา ภายในบรรจุสีผึ้งผสมตะกั่ว เพื่อให้ได้น้ำหนัก ใช้ชันปิดหน้า ใช้ปรับเสียงให้สายเอกเข้ากับสายทุ้ม

หนวดพราหมณ์ ใช้สายไหมฟั่นเกลียวอย่างสายซอ ผูกเป็นสายบ่วง ร้อยเข้าไปในรูที่ทวนล่าง เพื่อรั้งปมปลายสายซอทั้งสาม

คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งและเหนียวโดยมากนิยมใช้ไม้แก้ว เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง และมีลวดลายงดงามกลึงให้ได้รูป ขึงด้วยขนหางม้าสีขาวประมาณ 250-300 เส้น

เสียงของซอสามสาย

สายเอก ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง ซอล และใช้ปลายนิ้วแตะที่ข้างสายโดยใฃ้นิ้วชี้ จะเป็นเสียง ลา, ใช้นิ้วกลางแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียง ที, ใช้นิ้วนางแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียงโด, ใช้นิ้วก้อยแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียง เร (เสียงสูง) , ใช้นิ้วก้อยรูดที่สายจะเป็นเสียง มี (เสียงสูง)

สายกลาง ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง เร และใช้นิ้วชี้กดลงบนสายจะเป็นเสียง มี, ใช้นิ้วกลางกดลงบนสายจะเป็นเสียง ฟา, ใช้นิ้วนางกดลงบนสายเป็นเสียง ซอล

สายทุ้ม ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง ลา และใช้นิ้วชี้กดลงที่สายจะเป็นเสียง ที, ใช้นิ้วกลางกดลงที่สายจะเป็นเสียง โด, ใช้นิ้วนางกดลงที่สายจะเป็นเสียง เร



ซออู้
ซอสองสาย ตัวกะโหลกทำด้วยกะลามะพร้าว โดยตัดปาดกะลาออกเสียด้านหนึ่ง และใช้หนังลูกวัวขึงขึ้นหน้าซอ กว้างประมาณ 13 – 14 ซม เจาะกะโหลกให้ทะลุตรงกลาง เพื่อใส่คันทวนที่ทำด้วยไม้จริง ผ่านกะโหลกลงไป ออกทะลุรูตอนล่างใกล้กะโหลก คันทวนซออู้นี้ ยาวประมาณ 79 ซม ใช้สายซอสองสายผูกปลายทวนใต้กะโหลก แล้วพาดผ่านหน้าซอ ขึ้นไปผูกไว้กับ ลูกบิดสองอัน ลูกบิดซออู้นี้ยาวประมาณ 17 –18 ซม โดยเจาะรูคันทวนด้านบน แล้วสอดลูกบิดให้ทะลุผ่านคันทวนออกมา และใช้เชือกผูกรั้งกับทวนตรงกลางเป็นรัดอก เพื่อให้สายซอตึง และสำหรับเป็นที่กดสายใต้รัดอกเวลาสี ส่วนคันสีของซออู้นั้นทำด้วย ไม้จริงยาวประมาณ 70 ซม ใช้ขนหางม้าประมาณ 160 - 200 เส้น ตรงหน้าซอใช้ผ้าม้วนกลมๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นหมอนหนุน สายให้พ้นหน้าซอ ด้านหลังของกะโหลกซอ แกะสลักเป็นรูปลวดลายสวยงาม และเป็นช่องทางให้เสียงออกด้านนี้ด้วย

ซออู้มีรูปร่างคล้ายๆกับซอของจีนที่เรียกว่า ฮู – ฮู้ ( Hu-hu ) เหตุที่เรียกว่าซออู้ก็เพราะ เรียกตามเสียงที่ได้ยินนั่นเอง ซอด้วงและซออู้ ได้เข้ามามีบทบาทในวงดนตรีเครื่องสายตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 นี่เอง โดยได้ดัดแปลงมาจาก วงกลองแขกเครื่องใหญ่ ซึ่งมีเครื่องดนตรีที่ทำลำนำประกอบด้วย ซอด้วง ซออู้ จะเข้ และ ปี่อ้อ ต่อมาได้เอากลองแขก ปี่อ้อ ออก และเอา ทับกับรำมะนา และขลุ่ยเข้ามาแทน เรียกวงดนตรีชนิดนี้ว่า วงมโหรีเครื่องสาย มีคนเล่นทั้งหมด 6 คน รวมทั้ง ฉิ่งด้วย

ซออู้ มีเสียงทุ้มกังวาน ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายซอด้วง
มีส่วนประกอบ ดังนี้

กะโหลก ทำด้วยกะลามะพร้าว ตัดส่วนที่กว้างใกล้กับขั้ว ให้พูทั้งสามอยู่ด้านบน ใช้หนังลูกวัวหรือหนังแพะ ขึงเป็นหน้าตรงที่ตัด
คันซอ ทำด้วยไม้หรืองาช้างกลึง แบ่งเป็นสองส่วน คือ ทวนบน นับตั้งแต่ลูกบิด ไปถึงปลายคัน ทวนล่างนับตั้งแต่ลูกบิดลงมาที่ตัวคันมีลวดหรือลูกแก้วคั่นเป็นระยะ ปลายทวนล่างสอดทะลุ กะโหลกลงไป เพื่อคล้องสายซอทั้งสองเส้น
ลูกบิด มีสองลูก เสียบอยู่ที่ทวนบน ใช้ขึงสายซอ ซึ่งทำให้ด้วยไหมฟั่นเป็นเกลียว หรือทำด้วยเอ็นผูกคล้องปลายทวนล่างสุด ลูกบนสำหรับสายทุ้ม ลูกล่างสำหรับสายเอก
รัดอก เป็นบ่วงเชือกใช้ลูกล่างสำหรับสายเอกรั้งสายซอ เพื่อให้ได้คู่เสียงสายเปล่าชัดเจน
หมอน เป็นวัสดุที่วางหมุนระหว่างหน้าซอกับสายซอเพื่อให้ได้เสียงกับวาน บางทีเรียกว่า หย่อง
คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง กลึงให้ได้รูป ขึงเส้นหางม้า ประมาณ ๒๕๐ เส้น เส้นหางม้านี้จะสอดเข้าระหว่าง สายเอกกับสายทุ้ม การเทียบเสียง สายเอกมีระดับเสียงตรงกับสายทุ้มของซอด้วง สายทุ้มมีเสียงต่ำกว่าสายเอก ๕ เสีย

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องดีด)

เครื่องดนตรีไทยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะการเล่น ดังนี้

  1. เครื่องดีด
  2. เครื่องสี
  3. เครื่องตี
  4. เครื่องเป่า

เครื่องดีด

เป็นเครื่องดนตรีไทยที่บรรเลงหรือเล่นด้วยการใช้นิ้วมือ หรือไม้ดีด ดีดสาย ให้สั่นสะเทือนจึงเกิดเสียงขึ้น เครื่องดนตรีไทยประเภทนี้มีหลายชนิด แต่ที่นิยมเล่น กันแพร่หลาย ในปัจจุบันมีอยู่ไม่กี่ชนิด คือ กระจับ พิณ และจะเข้

กระจับปี่
เป็นพิณชนิดหนึ่ง มี 4 สาย กระพุ้งพิณมีลักษณะ เป็นกล่องแบน รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูมุมมนด้านหน้าทำเป็นช่อง ให้เสียงกังวาน ทวนทำเป็นก้านเรียวยาวและกลมกลึงปลายแบน และงอนโค้งไปด้านหลัง ตรงปลายทวนมีลิ่มสลักเป็นลูกบิดไม้ สำหรับขึ้นสาย 4 ลูก สายส่วนมากทำด้วยสายเอ็น หรือลวดทองเหลือง ตลอดแนวทวนด้านหน้าทำเป็น "สะพาน"หรือ นม ปักทำด้วยไม้ เขาสัตว์หรือกระดูกสัตว์ สำหรับหมุนสายมี 11 นมกระจับปี่พัฒนามาจากเครื่องดนตรีประเภทหนึ่งของอินเดีย มีต้นกำเนิดจากการดีดสายธนูตามหลักฐานพบว่า กระจับปี่มีมาตั้งแต่ สมัยสุโขทัย

พิณน้ำเต้า
สันนิษฐานว่า พิณมีกำเนิดในประเทศ ทางตะวันออก พิณโบราณเรียนพิณน้ำเต้า ซึ่งมีลักษณะเป็น พิณสายเดี่ยว สันนิษฐานว่าชาวอินเดียนำมาแพร่หลาย ในดินแดนสุวรรณภูมิ การที่เรียกว่าพิณน้ำเต้า เพราะใช้ เปลือกผลน้ำเต้ามาทำ คันพิณที่เรียกว่า ทวน ทำด้วยไม้เหลา ให้ปลายข้างหนึ่ง เรียวงอนโค้งขึ้นสำหรับผูกสาย ที่โคนทวน เจาะรูแล้วเอาไม้มาเหลาทำลูกบิด สำหรับบิดให้สายตึงหรือหย่อน เพื่อให้เสียงสูงต่ำ สายพิณมีสายเดียวเดิมทำด้วยเส้นหวาย ต่อมาใช้เส้นไหม และใช้ลวดทองเหลืองในปัจจุบัน

จะเข้
เป็นเครื่องดนตรีที่วางดีดตามแนวนอน ทำด้วยไม้ท่อนขุดเป็นโพรงอยู่ภายใน นิยมใช้ไม้แก่นขนุน เพราะให้เสียงกังวาลดี ด้านล่างเป็นพื้นไม้ ซึ่งมักใช้ไม้ฉำฉา เจาะรูไว้ให้เสียงออกดีขึ้น มีขาอยู่ตอนหัว ๔ ขา ตอนท้าย ๑ ขา มีสาย ๓ สาย คือ สายเอก(เสียงสูง) สายกลาง(เสียงทุ้ม) ทั้งสองสายนี้ทำด้วยเอ็นหรือไหมฟั่นเป็นเกลียว สายที่สามเรียก สายลวด(เสียงต่ำ) ทำด้วยลวดทองเหลือง ทั้งสามสายนี้ขึงจากหลักตอนหัวผ่าน โต๊ะ (กล่องทองเหลืองกลวง) ไปพาดกับ "หย่อง" แล้วสอดลงไปพันกันด้านลูกบิด(ปักทำด้วยไม้หรืองา) สายละลูก โต๊ะนี้ทำหน้าที่ขยายเสียงของจะเข้ให้คมชัดขึ้น ระหว่างราง ด้านบนกับสายจะเข้ จะมีชิ้นไม้เล็ก ๆ ทำเป็นสันหนาเรียกว่า "นม" ๑๑ นม วางเรียงไปตามแนวยาว เพื่อรองรับการกด จากนิ้วมือขณะบรรเลง นมเหล่านี้มีขนาดสูงต่ำลดหลั่นกันไป ทำให้เกิดเสียงสูง-ต่ำ เวลาดีดจะใช้ไม้ดีดที่ทำด้วยงาหรือเขาสัตว์ กลึงเป็นท่อนกลม ปลายเรียวแหลมมน ดีดปัดสายไปมา ไม้ดีดนี้จะพันติดกับนิ้วชี้มือขวา ส่วนมือซ้ายใช้กดนิ้วบนสายถัดจากนม ไปทางซ้ายเล็กน้อย เพื่อให้เกิดเสียงสูงต่ำตามที่ต้องการ

การประสมวงดนตรีไทย

การประสมวงดนตรีไทย สรุปได้ดังนี้

วงปี่พาทย์ คำว่า "ปี่พาทย์" หมายถึงการประสมวงที่มีปี่ และเครื่องเคาะ (ตี) ร่วมด้วย สมัยสุโขทัยได้เริ่มมี "วงปี่พาทย์เครื่องห้า" ขึ้นมาก่อน โดยใช้เครื่องดนตรี 5 ชิ้น คือ ปี่ ตะโพน ฆ้อง กลอง ฉิ่ง ต่อมาได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับจนเจริญถึงขีดสุดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีการเพิ่มระนาดเข้าไปในภายหลัง

วงปี่พาทย์ในปัจจุบันแบ่งออกได้ 7 แบบ ตามการจัดกลุ่มเครื่องดนตรีดังนี้

ปี่พาทย์ชาตรี ประกอบด้วย
  1. ปี่นอก
  2. ฆ้องคู่
  3. โทนชาตรี,
  4. กลองชาตรี
  5. ฉิ่ง
  6. กรับ
ปี่พาทย์เครื่องห้า ประกอบด้วย
  1. ปี่ใน
  2. ฆ้องวงใหญ่
  3. ระนาด
  4. ตะโพน
  5. กลองทัด
  6. ฉิ่ง
ปี่พาทย์เครื่องคู่ ประกอบด้วย
  1. ปีใน
  2. ปี่นอก
  3. ฆ้องวงใหญ่
  4. ฆ้องวงเล็ก
  5. ระนาดเอก
  6. ระนาดทุ้ม
  7. ตะโพน
  8. กลองทัด
  9. ฉิ่ง
  10. ฉาบ
  11. กรับ
  12. โหม่ง
ปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ประกอบด้วย
  1. ปีใน
  2. ปี่นอก
  3. ฆ้องวงใหญ่
  4. ฆ้องวงเล็ก
  5. ระนาดเอก
  6. ระนาดทุ้ม
  7. ระนาดเหล็ก
  8. ระนาดทุ้มเหล็ก
  9. ตะโพน
  10. กลองทัด
  11. ฉิ่ง
  12. ฉาบ
  13. กรับ
  14. โหม่ง

ปี่พาทย์นางหงส์ ประกอบด้วย
  1. ปี่ชวา
  2. ฆ้องวงใหญ่
  3. ฆ้องวงเล็ก
  4. ระนาดเอก
  5. ระนาดทุ้ม
  6. กลองมลายู
  7. ฉิ่ง
ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ประกอบด้วย
  1. ขลุ่ยเพียงออ
  2. ขลุ่ยอู้
  3. ฆ้องวงใหญ่
  4. ฆ้องหุ่ย
  5. ระนาดเอ
  6. ระนาดทุ้ม
  7. ระนาดทุ้มเหล็ก
  8. ซออู้
  9. ตะโพน
  10. กลองตะโพน
  11. กลองแขก
  12. ฉิ่ง
ปี่พาทย์มอญ ประกอบด้วย
  1. ปี่มอญ
  2. ฆ้องมอญ
  3. ระนาด
  4. เปิงมางคอก
  5. ตะโพนมอญ
  6. โหม่งมอญ
  7. ฉิ่ง
  8. ฉาบ
วงมโหรี ในสมัยอยุธยาวงมโหรีเกิดขึ้นมาจากการดัดแปลงวงขับไม้ในอดีต โดยนำพิณมาร่วมบรรเลงดัวย ซึ่งเดิมมีเครื่องดนตรีเพียง 2 ชิ้น แล้วเปลี่ยนคนขับลำนำมาเป็นคนร้อง และตีกรับพวง เปลี่ยนจากบัณเฑาะว์เป็นโทน พร้อมกับเพิ่มรำมะนา และขลุ่ยไปประสมร่วม

เครื่องดนตรีไทย ความหมายและความสำคัญ


ความหมายและความสำคัญของเครื่องดนตรีไทย

“เครื่องดนตรี” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นเครื่องบรรเลงซึ่งมีเสียงดัง ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน หรือเกิดอารมณ์รัก โศก และรื่นเริงได้ตามทำนองเพลง

ดังนั้น เครื่องดนตรีไทยจึงหมายถึง เครื่องบรรเลงซึ่งมีเสียงดัง ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน หรือเกิดอารมณ์รัก โศก และรื่นเริงได้ตามทำนองเพลง ซึ่งบรรพบุรุษของเราได้สร้างสมไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแต่โบราณกาล แสดงลักษณะเฉพาะของชาติไทย เช่นเดียวกับภาษา และ ศิลปวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ ควรแก่การที่เราชาวไทยจะภาคภูมิใจและช่วยกันทะนุบำรุง ส่งเสริมและรักษาไว้ให้ดำรงคงอยู่สืบไป

ฉะนั้น เราชาวไทยก็ควรที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดนตรีไทย และส่วนหนึ่งของดนตรีไทยก็คือ "เครื่องดนตรีไทย"

การศึกษาเรื่องราวของดนตรี เป็นการค้นหาหลักฐานสืบประวัติได้ยาก เพราะดนตรีเป็นการเลียนเสียงธรรมชาติ จึงเป็นการยากที่จะใช้เครื่องมือต่างๆ บันทึกเสียงดนตรีเหล่านั้นไว้เป็นหลักฐาน และในสมัยก่อนยังไม่มีผู้ประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียงขึ้น นอกจากจะมีผู้จดจำทำนองเพลงต่าง ๆ ขึ้นแล้วยอมถ่ายทอดให้คนอื่นได้ฟังเพลงนั้นบ้าง โดยเฉพาะ ดนตรีไทยนั้น ได้มีการบันทึกไว้ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เป็นต้นมา ซึ่งสมัยนั้น มีลักษณะเป็นการ ขับลำนำ และการร้องเล่น ในวรรณคีเรื่องไตรภูมิพระร่วง จะใช้เครื่องดนตรีในการเล่น ได้แก่ ฆ้อง กลอง แตร สังข์ ฉาบ พิณ บัณเฑาะว์ มโหระทึก ปี่ไฉน กรับ กังสดาล ระฆัง และซอ

ดนตรีไทย มีการบันทึกเป็นโน้ตตัวเลขเป็นครั้งแรก เมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 โดยหลวงประดิษฐไพเราะ ในการถ่ายทอดเพลงถ้าไม่ใช่ศิษย์รักจริงๆ ครูก็ไม่ถ่ายทอดให้ ในที่สุดเพลงนั้นก็หายตายไปกับครู เพลงที่เหลืออยู่ก็ มักไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด

ลักษณะีท่าทางในการเล่นดนตรีไทย มีลักษณะ ที่เป็นเอกลักษณ์ ที่ไม่เหมือนกับชาติอื่น ทำนองของเพลง จังหวะการเล่น การร้อง จะสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ ของผู้ร้องผู้เล่นได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่ได้จากการฟังดนตรีไทย

ทำให้ เกิดความบันเทิง ผ่อนคลาย มีสมาธิ ทำให้จิตใจร่าเริงแจ่มใส เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ และยังขัดเกลา ให้มนุษย์มีจิตใจที่ดีงาม

นอกจากดนตรีจะช่วยสร้าง ความสามัคคีแล้วยังก่อให้เกิดวัฒนธรรม ซึ่งก็คือ คนที่แต่งเนื้อร้อง หรือนักประพันธ์เพลงต้องยึดหลักเกณฑ์ ที่มีระเบียบวินัย และคำสอนต่างๆ สอดแทรกลงใน เนื้อหาของเพลง เพื่อให้คนฟังได้คิดตาม และยึดเป็นหลัก ในการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ก็ยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านภาษาให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้อีกทางหนึ่ง