วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องตี-กลอง)

กลอง

เป็นเครื่องดนตรีประเภทตีกระทบ ประกอบด้วยแผ่นบาง มักทำด้วยแผ่นหนังขึงยึดติดกับโครงให้ตึง ทำให้เกิดเสียงโดยการตีด้วยไม้ หรืออวัยวะของผู้เล่น กลองจัดเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

กลองแขก
หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลองชวา เป็นเครื่องดนตรีประเภทตีที่มีรูปร่างยาวเป็นรูปทรง กระบอก ขึ้นหนังสองข้างด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะหน้าใหญ่ กว้างประมาณ 20 ซม เรียกว่า “หน้ารุ่ย” ส่วนหน้าเล็กกว้างประมาณ 17 ซม เรียกว่า“หน้าด่าน” ตัวกลองแขกทำด้วยไม้แก่น เช่นไม้ชิงชันหรือไม้มะริดการขึ้นหนังใช้เส้นหวายผ่าซีกเป็นสายโยง เร่งเสียง โยงเส้นห่างๆในปัจจุบันอาจใช้เส้นหนังแทนเนื่อง จากหาหวายได้ยาก กลองแขกสำหรับหนึ่งมี 2 ลูกลูกเสียง สูงเรียก “ตัวผู้” ลูกเสียงต่ำเรียก “ตัวเมีย” ตีด้วยฝ่ามือทั้งสองข้างให้สอดสลับกันทั้งสองลูก

ลักษณะของกลองแขก

กลองแขกเป็นกลองสองหน้า ยาวประมาณ ๖๐ ซม. ตัวกลองทำด้วยไม้ขึงหนัง ๒ หน้า เสียงต่ำ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๕ ซม. เสียงสูงเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๑ ซม. ดึงให้ตึงด้วยเชือกหนัง ชุดหนึ่งมี ๒ ลูก ตีคู่กัน เป็นตัวเมีย (เสียงต่ำ) ลูกหนึ่งกับตัวผู้ (เสียงสูง) ลูกหนึ่ง

ประวัติ

กลองแขก เป็นเครื่องหนังที่จัดอยู่ในประเภทที่ใช้สายโยงเร่งเสียง ขึ้นหรือหุ้มหนังทั้ง 2 หน้า มีชื่อเรียกอีกชื่ออีกหนึ่งว่า “ กลองชวา “ เพราะเข้าใจว่าเราได้แบบอย่างมาจากชวา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้อธิบายถึงเรื่องกลองมลายูและกลองแขก ไว้ในตำนานมโหรีปี่พาทย์ว่า “ เครื่องปี่พาทย์เราทีใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มีเครื่องดนตรีที่เราได้มาจาก 2 อย่าง คือ กลองแขกและกลองมลายู เข้าใจว่ามาจาพวกชวา ทั้งสองอย่างนี้มีรูปร่างที่คล้ายคลึงกัน จะผิดกันที่การผสมวง และการนำเอาไปใช้ “ และยังได้อธิบายถึงการเข้ามาของกลองแขกไว้อีก ในระยะแรกนั้นกลองเข้ามาใช้ในการตีประกอบการฟ้อนรำ เช่น การรำกระบี่กระบอง ส่วนทำนองวงนั้นจะมาจากแขกรำกริชก่อน วงที่ใช้นั้นจะประกอบไปด้วย ปี่ชวา 1 เลา กลองแขก 1 คู่ และฉิ่ง ในขบวนแห่ก็ใช้เหมือนกัน เช่น ใช้ตีนำขบวนแห่โสกันต์และนำขบวนแห่เสด็จพระราชดำเนินกระบวนช้างและกระบวน เรือ ซึ่งคล้ายคลึงกับกลองมลายูที่ใช้ตีในกระบวนแห่ สงสัยว่าเดิมอาจจะใช้กลองมลายูตีก่อน ต่อมาภายหลังอาจเห็นว่า กลองมลายูนั้นใช้ตีในงานศพ อาจเป็นที่รังเกียจ จึงนำเอากลองแขกมาตีแทน โดยลดฆ้องเหม่งออกแล้วนำฉิ่งมาตีแทน การนำเอากลองแขกเข้ามาตีในวงปี่พาทย์ เห็นจะเป็นเมื่อคราวบรรเลงประกอบกาแสดงละครเรื่องอิเหนาของชวา มาเล่นเป็นละครของไทยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยใช้ตีตอนละครรำเพลงแขก เช่น การรำกริช เป็นต้น ครั้นต่อมา เมื่อปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงใดอันเนื่องมาจากแขก เช่น เพลงเบ้าหลุด สะระบุหร่ง ก็จะนำเอากลองแขกเข้ามาตีแทนตะโพน ปัจจุบันจะพบเห็นกลองแขกตีกับจังหวะหน้าทับแทนตะโพนและสองหน้าอยู่ในวงปี่ พาทย์เสมอ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในวงดนตรีไทย


โอกาสที่บรรเลง

๑. บอกเวลา ๑๑.๐๐ น. (เพล) เฉพาะตามวัดและเป็นสัญญาณหมายรู้กันในละแวกบ้านนั้นๆ กับวัด

๒. ประสมวงปี่พาทย์บรรเลงในทุกโอกาส


กลองชนะ

กลองชนะ รูปร่างเหมือนกลองแขก แต่สั้นกว่า หน้าหนึ่งใหญ่ อีกหน้าหนึ่งเล็ก ใช้ตีด้วยไม้งอ ๆ หรือหวาย ทางด้านหน้าใหญ่ เดิมกลองชนะน่าจะใช้ในกองทัพ หรือในการสงคราม ต่อมาใช้เป็นเครื่องประโคมในกระบวนพยุหยาตรา และใช้ประโคม พระบรมศพ พระศพ และศพ ตามเกียรติยศของงาน จำนวนที่ใช้บรรเลง มีตั้งแต่ ๑ คู่ ขึ้นไป

กลองชาตรี

กลองชาตรี มีรูปร่างลักษณะและการตีเช่นเดียวกับกลองทัด แต่ขนาดเล็กกว่ากลองทัดประมาณครึ่งหนึ่ง ขึ้นหนังสองหน้า ใช้บรรเลงร่วมในวงปีพาทย์ในการแสดงละครชาตรีที่เรียกว่า "ปีพาทย์ชาตรี" ใช้เล่นคู่กับโทนชาตรี

กลองต๊อก

กลองต๊อก เป็นกลองจีนชนิดหนึ่ง มีขนาดเล็ก หุ่นกลองหนา ขึ้นหนังสองหน้า หน้าทั้งสองมีขนาดเท่ากัน ตีหน้าเดียวโดยใช้ไม้ขนาดเล็ก

กลองตะโพน

กลองตะโพน ใช้ตะโพนสองลูก เสียงสูงต่ำต่างกัน ถอดเท้าออก แล้วนำมาตั้งเอาหน้าเท่งขึ้นตีแบบกลองทัด ใช้ไม้นวมที่ใช้ตีระนาดเป็นไม้ตี

กลองทัด

กลองทัด มีรูปทรงกระบอก กลางป่องออกเล็กน้อย ขึ้นหนังสองหน้า ตรึงด้วยหมุดที่เรียกว่า "แส้" ซึ่งทำด้วยไม้ งาช้าง กระดูกสัตว์ หรือโลหะ หน้ากลองด้านหนึ่งติดข้าวตะโพน แล้วตีอีกด้านหนึ่ง ใช้ไม้ตีสองอัน สำรับหนึ่งมีสองลูก ลูกเสียงสูงเรียกว่า "ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำเรียกว่า "ตัวเมีย" ตัวผู้อยู่ทางขวา และตัวเมียอยู่ทางซ้ายของผู้ตี กลองทัดน่าจะเป็นกลองของไทยมาแต่โบราณ ใช้บรรเลงรวมอยู่ในวงปีพาทย์มาจนถึงปัจจุบัน

กลองมลายู

กลองมลายู มีรูปร่างลักษณะเหมือนกลองแขก แต่สั้นและอ้วนกว่า หน้าหนึ่งใหญ่ อีกหน้าหนึ่งเล็กขึ้นหนังสองหน้า เร่งให้ตึงด้วยหนังรูดให้แน่น สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนัง หน้าใหญ่อยู่ทางขวาไปตีด้วยไม้งอ หน้าเล็กตีด้วยฝ่ามือ สำรับหนึ่งมีสีลูก ต่อมาลดเหลือสองลูก ใช้บรรเลงคู่ อย่างกลองแขกลูกเสียงสูงเรียกว่า "ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำเรียกว่า "ตัวเมีย" ใช้บรรเลงในวงบัวลอยในงานศพ และใช้บรรเลงในวงปีพาทย์นางหงส์

กลองโมงครุ่ม

กลองโมงครุ่ม มีรูปร่างลักษณะเหมือนกลองทัด แต่ใหญ่กว่า ขึ้นหนังสองหน้า ตรึงด้วยหมุด ตีหน้าเดียว โดยใช้ไม้ตี ใช้ตีในการเล่นสมัยโบราณที่เรียกว่า "โมงครุ่ม" หรือ "โหม่งครุ่ม" ซึ่งมักตีฆ้องโหม่งประกอบด้วย

กลองยาว

กลองยาว หุ่นกลองทำด้วยไม้ ตอนหน้าใหญ่ ตอนท้ายเรียวแล้วบานปลายเป็นรูปดอกลำโพงมีหลายขนาด ขึ้นหนังหน้าเดียว ตัวกลางนิยมตบแต่งให้สวยงามด้วยผ้าสี หรือผ้าดอกเย็บจีบย่น ปล่อยเชิงเป็นระบายห้อยมาปกด้วยกลอง มีสายสะพายสำหรับคล้องสะพายบ่า ใช้ตีด้วยฝ่ามือ แต่การเล่นโลดโผน อาจใช้ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายตีก็มี กลองยาวได้แบบอย่างมาจากพม่า นิยมเล่นในงานพิธีขบวนแห่ กลองชนิดนี้เรียกชื่อตามเสียงที่ตีได้อีกชื่อหนึ่งว่า "กลองเถิดเทิง"

กลองสองหน้า

กลองสองหน้า ลักษณะคล้ายเปิงมาง แต่ใหญ่กว่า ตีด้วยมือขวา ใช้ใบเดียวตีกำกับจังหวะในวงปีพาทย์ที่บรรเลงในการขับเสภา

ตะโพน

ตะโพน เป็นเครื่องดนตรีประเภทกลอง ตัวตะโพนเรียกว่า "หุ่น" ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ขุดแต่งให้เป็นโพรงภายใน ขึ้นหนังสองหน้า ตรงกลางป่องและสอบไปทางหน้าทั้งสอง หน้าหนึ่งใหญ่เรียกว่า "หน้าเทิ่ง" หรือ "หน้าเท่ง" ปกติอยู่ด้านขวามือ อีกหน้าหนึ่งเล็ก เรียกว่า "หน้ามัด" ใช้สายหนังเรียกว่า "หนังเรียด" โยงเร่งเสียงระหว่างหน้าทั้งสอง ตรงรอบ ขอบหนังขึ้นหน้าทั้งสองข้าง ถักด้วยหนังตีเกลียวเป็นเส้นเล็ก ๆ เรียกว่า "ไส้ละมาน" สำหรับใช้ร้อยหนังเรียด โยงไปโดยรอบจนหุ้มไม้หุ่นไว้หมด ตอนกลางหุ่นใช้หนังเรียดพันโดยรอบเรียกว่า "รัดอก" หัวตะโพนวางนอนอยู่บนเท้าที่ทำด้วยไม้ ใช้ฝ่ามือซ้าย-ขวา ตี ทั้สองหน้า

ตะโพนใช้บรรเลงผสมอยู่ในวงปีพาทย์ ทำหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับต่าง ๆ ผู้ที่นับถือพระประคนธรรพ ว่าเป็นครูใหญ่ทางดนตรี ได้ถือเอาตะโพนเป็นเครื่องแทนพระประคนธรรพในพิธีไหว้ครู และถือว่าตะโพนเป็นเครื่องควบคุมจังหวะที่สำคัญที่สุด

ตะโพนมอญ
คล้ายตะโพนไทย แต่ใหญ่กว่า และตรงกลางหุ่นป่องน้อยกว่า มีเสียงดังกังวาลลึกกว่าตะโพนไทย หน้าใหญ่เรียกว่า "เมิกโนด" หน้าเล็กเรียกว่า "เมิกโด้ด" เป็นภาษามอญ ตะโพนมอญใช้บรรเลงผสมในวงปีพาทย์มอญ มีหน้าที่บรรเลงหน้าทับ กำกับจังหวะต่าง ๆ

วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องตี-ระนาดเอก)



ระนาดเอก

ระนาดเอกเป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ที่วิวัฒนาการมาจากกรับ แต่เดิมคงใช้กรับสองอันตีเป็นจังหวะ ต่อมาก็เกิดความคิดว่า ถ้าเอากรับหลาย ๆ อันวางเรียงราดลงไป แล้วแก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน แล้วทำรางรองอุ้มเสียง และใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่าง ๆ กันนั้นให้ติดกัน และขึงไว้บนรางใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง นำตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งมาถ่วงเสียงโดยนำมาติดหัวท้ายของไม้กรับนั้น ให้เกิดเสียงไพเราะยิ่งขึ้น เรียกไม้กรับที่ประดิษฐ์เป็นขนาดต่างๆกันนั้นว่า ลูกระนาด เรียกลูกระนาดที่ผูกติดกันเป็นแผ่นเดียวกันว่า ผืน

ส่วนประกอบของระนาดเอก

ลักษณะงานดนตรีหรืองานดุริยางคศิลป์นั้นเป็นงานสาขาหนึ่งในงานศิลปะ บริสุทธิ์ จะเห็นได้ว่างานดนตรีกับงานศิลปะนั้นมีความสัมพันธ์และอาศัยซึ่งกันและกัน มีพื้นฐานในด้านความคิดที่สอดคล้องคล้ายคลึงกัน และกล่อมเกลาจิตใจคนให้มีความอ่อนโยนขึ้น ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับดนตรีดูได้จากการออกแบบสร้างเครื่องดนตรี โดยทั่วไปนักดนตรีมักจะเลือกซื้อเครื่องดนตรีชิ้นที่ตนเองชอบ และเลืกเครื่องดนตรีที่มีเสียงดีไว้ก่อน เมื่อได้เครื่องดนตรีที่มีเสียงดีตามต้องการแล้วจึงจะดูลักษณะเครื่องดนตรี ว่าสวยงามหรือไม่ รูปร่างหรือส่วนสัดของเครื่องดนตรีมีความสวยงามเหมาะสมเพียงใด ดังนั้นเครื่องดนตรีไทยทุกชนิดจะมีการประดับด้วยวัสดุที่งดงามและออกแบบลวดลายให้เกิดความสวยงามเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้อ จึงทำให้เกิดงานศิลปะในการประดับตกแต่งลวดลายบนเครื่องดนตรี ดังจะเห็นในส่วนประกอบของระนาดที่จะกล่าวถึงนี้

ส่วนประกอบของระนาดเอกนั้นแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1. รางระนาดเอก
2. ผืนระนาดเอก
3. ไม้ตีระนาด

รางระนาดเอก

รางระนาดเอกแบ่งเป็นส่วนประกอบย่อยๆดังนี้คือ

ตัวรางทำด้วยไม้เนื้อแข็งเช่น ไม้สัก ไม้มะริด ไม้มะเกลือ ไม้ประดู่ เป็นต้น รูปร่างคล้ายเรือสมัยโบราณ คือตอนกลางป่องเป็นกระพุ้งเล็กน้อยเพื่อให้เสียงก้องกังวาน ตอนหัวและท้ายโค้งงอนขึ้นเรียกว่า "ฝาประกบ" มี 2 แผ่น บนขอบรางด้านบนทั้งสองข้างของฝาประกบจะใช้หวายเส้นซึ่งมีผ้าพันโดยรอบ ติดเป็นแนวยาวไว้ตลอด เพื่อรองรับผืนระนาดขณะที่ลดลงจากตะขอเกี่ยว ป้องกันบริเวณใต้ท้องของผืนระนาดมิให้ถูกครูดเป็นรอยได้ง่าย ที่ขอบของฝาประกบด้านนอกจะเซาะร่องเดินเป็นคิ้วไว้เพื่อความสวยงาม นอกจากทาสีที่คิ้วขอบรางแล้ว ที่ไม้ฝาประกบยังเดินเส้นดำหรือขาวไปตามขอบคิ้วรางทั้งด้านล่างและด้านบนรวมไปถึงโขนระนาดด้วย บางรางเดินเส้นเดียวบางรางเดินคู่สองเส้นแล้วแต่รสนิยมของช่างผู้ประดิษฐ์ ต่อมาการสร้างรางระนาดได้มีการพัฒนาให้สวยงามขึ้นอีกโดยทำขอบคิ้ว ซึ่งประกอบด้วยงาช้างหรือตัวรางทั้งหมดแกะเป็น
ลวดลายต่างๆ บางทีก็ประดับลวดลายด้วยมุกหรือแกะลวดลายลงรักปิดทองเป็นต้น

โขนระนาด
เป็นไม้ 2 แผ่นรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ติดประกบไว้ที่หัวและท้ายของไม้ฝาประกบโดยเฉพาะด้านในตอนบนจะติด "ตะขอระนาด" ซึ่งทำด้วยโลหะโค้งงอ สำหรับสอดคล้องเชือกขึงผืนระนาดให้ลอยอยู่บนราง ด้านล่างของรางมีแผ่นไม้บางๆปิดไว้ยาวโดยตลอดเพื่อยึดฝาประกบและโขนให้ติดเข้าด้วยกันเรียกว่า "ไม้ปิดใต้ท้องระนาด" ทำให้อุ้มเสียงและระนาดมีเสียงดังกังวานมากขึ้น

เท้าระนาด (บางทีเรียกฐานระนาด) ทำด้วยไม้หนามีลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมคล้ายฐานของพานรอง ตรงกลางเป็นคอคอดส่วนตอนบนโค้ง
เว้าไปตามท้องราง เท้าระนาดยึดติดอยู่ที่กลางลำตัวของรางระนาดเพื่อให้หัวและท้ายของรางลอยตัวสูงขึ้น ฐานด้านล่างนิยมแกะสลักเป็น"ลายฐานแข้งสิงห์" ทั้ง 4 ด้าน ที่ฝาไม้ประกบตอนบนและตอนล่างจะใช้ไม้ติดประกบโดยตลอดเรียกว่า "คิ้วขอบราง" นิยมทาสีขาวหรือดำเพื่อตัดกับสีของแล็คเกอร์
ซึ่งทาไว้ที่ตัวรางระนาด

ผืนระนาด เดิมทำด้วยไม้ไผ่ตง(นักดนตรีเรียก ไผ่บง) นำมาตัดเหลาด้วยความประณีตเป็นลูกๆ มี 21 ลูก ขนาดลดหลั่นกันตามลำดับเรียกว่า " ผืนระนาด" ใช้แขวนที่ตะขอทั้ง 4 บนโขนระนาด ใต้ลูกระนาดทั้ง 21 ลูกจะติดตะกั่วซึ่งทำด้วย ตะกั่วและขี้ผึ้งผสมกัน เพื่อถ่วงเสียงให้ได้เสียงสูงเสียงต่ำตามต้องการโดยติดไว้ที่ใต้ลูกระนาดตรงด้านล่างของปลายลูกระนาดทั้ง สองข้างๆละ 1 ก้อน จำนวนที่ติดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับเสียงที่ต้องการ ถ้าติดมากเสียงจะต่ำลง ถ้าติดน้อยเสียงจะสูงขึ้น ต่อมาภายหลังนิยมนำ ไม้ชิงชัน หรือ ไม้มะหาด มาเหลาเป็นผืนระนาดได้เสียงเล็ก แหลมกว่าผืนระนาดที่ทำด้วยไม้ไผ่ นอกจากนั้นในสมัยปัจจุบันได้เพิ่มลูกระนาดเอกให้มี 22 ลูก เพื่อให้บรรเลงกับวงปี่พาทย์มอญได้สะดวก แต่ในวงปี่พาทย์เสภาเดิมไม่นิยม เพิ่มลูกระนาดคงใช้เพียง 21 ลูกเท่านั้น เมื่อเกิดวงมโหรีขึ้น เครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ต้องย่อสัดส่วนให้เล็กลงกว่าเดิม เรียกรางชนิดนี้ว่า "รางระนาดมโหรี" ซึ่งมีส่วนประกอบเช่นเดียวกับรางระนาดเดิมทุก อย่างเพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า

ไม้ตีระนาดเอกทำด้วยไม้ไผ่เหลาเป็นท่อนกลมเล็กๆ 2 อัน หัวไม้ตีทำด้วย ด้ายพันด้วยผ้าชุบรัก ลักษณะเป็นปื้นกลมเวลาตีมีเสียงดังแข็งกร้าวเรียกว่า "ไม้แข็ง" อีกแบบทำด้วยผ้าติดตะกั่วเล็กน้อยทาแป้งเปียกแล้วพันด้วยด้ายสีเส้นเล็กๆโดย รอบอย่างสวยงาม เวลาตีมีเสียงทุ้มนุ่มนวลเรียกว่า "ไม้นวม" ใช้ตีกับระนาดเอกในวงปี่พาทย์ไม้ นวมหรือวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์

ลวดลายบนรางระนาดเอก

ลวดลายที่นิยมทำบนรางระนาดเอกมีหลายแบบแต่แยกเป็นประเภทใหญ่ๆได้ ดังนี้คือ

รางระนาดแบบไทย

ไม่นิยมแกะสลักลวดลายแต่จะทำเป็นพื้นเรียบๆ บางครั้ง มีตัวอักษรย่อฝังตรงกลางของฝารางทั้งสองข้างเช่น พระนามย่อของเจ้าฟ้าฯ ชื่อย่อของ สถาบันชื่อย่อของบุคคล หรือชื่อย่อนามสกุลเป็นต้น บางทีก็มีการเดินคิ้วขอบรางหรือขอบโขนระนาดด้วยงาช้างและนิยมใช้งาช้างที่เป็นเนื้อเดียวกันตลอดซึ่งหายากถือกันว่าเป็นงานชิ้นยอด ระนาดบางรางอาจจะต้องนำเศษงาช้างมาต่อกันเพราะไม่สามารถหางาช้างที่เป็นชิ้น เดียวกันทั้งหมดได้ ในกรณีที่ไม่ได้ใช้งาช้างก็จะใช้ไม้ซึ่งมีสีแตกต่างกันเดินคิ้วแทนเช่นพื้นอ่อนคิ้วสีเข้มหรือพื้นเข้มเดินคิ้วด้วยสีอ่อน

รางระนาดแบบของมอญจะนิยมแกะสลักและลงรักปิดทอง เรียกกันว่า รางทอง ซึ่งต่อมีผู้กล่าวกันว่า ระนาดเอกรางทอง ของวงปี่พาทย์ไทยนั้นได้รับอิทธิพลมาจากวงปี่พาทย์มอญภายหลังจึงนำรางทองมาใช้ในวงปี่พาทย์ไทย

รางระนาดแบบฝรั่ง รูปร่างรางระนาดจะแตกต่างจากรางไทยคือมีลักษณะลวด ลายแบบฝรั่งเช่นลาย ดอกพุดตาน ลายดอกไม้ฝรั่ง เป็นต้น รางระนาดเอกซึ่งมีีการออกแบบตกแต่งอย่างสวยงาม

ระนาดเอกเป็นเครื่องดนตรีชิ้นนำของวงปี่พาทย์เพราะไม่ว่าจะเริ่มเล่นเพลง หรือ เปลี่ยนเพลงทั้งวงจะยึดแนวของระนาดเอกเป็นหลัก นอกจากนี้ระนาดเอกยังเป็นเครื่อง ดนตรีหลักในการผสมวงเช่น ปี่พาทย์เครื่องห้า ปี่พาทย์เครื่องคู่ ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ปี่พาทย์มอญ ปี่พาทย์นางหงส์ หรือแม้แต่ในวงมโหรีไม่ว่าจะเป็นมโหรีเครื่องเล็ก มโหรี เครื่องคู่ หรือ มโหรีเครื่องใหญ่ ต่างก็ใช้ระนาดเอกเป็นหลักทั้งสิ้น

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องตี-ระนาดทุ้ม)


ระนาดทุ้ม

เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นมาในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ลักษณะเด่นของระนาดทุ้ม เป็นการสร้างเลียนแบบระนาดเอก ใช้ไม้ชนิดเดียว กันกับระนาดเอก ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน17 หรือ 18 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 42 ซม กว้าง 6 ซม และลดหลั่นลงมาจนถึงลูกยอด ที่มีขนาดยาว 34 ซม กว้าง 5 ซม รางระนาดทุ้มนั้นประดิษฐ์ให้มีรูปร่างคล้ายหีบไม้ แต่เว้าตรงกลางให้โค้ง โขนปิดหัวท้ายเพื่อ เป็นที่แขวนผืนระนาดนั้น ถ้าหากวัดจากโขนด้านหนึ่งไปยังโขนอีกด้านหนึ่ง รางระนาดทุ้มจะมีขนาดยาวประมาณ 124 ซม ปาก รางกว้างประมาณ 22 ซม มีเท้าเตี้ย รองไว้ 4 มุม ราง

หน้าที่ของระนาดทุ้มในวงนั้น ทำหน้าที่เดินทำนองรอง ในทางของตนเอง ซึ่งจะมีจังหวะโยน ล้อ ขัด ที่ทำให้เกิดความไพเราะและเติมเต็มช่องว่างของเสียง อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของระนาดทุ้ม


ระนาดทุ้มเหล็ก

ระนาดทุ้มเหล็ก เป็นเครื่องดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริให้สร้างขึ้น

ลักษณะเด่นของระนาดทุ้มเหล็ก ลูกระนาดทำอย่างเดียวกับระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็กมีจำนวน 16 หรือ 17 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 35 ซม กว้างประมาณ 6 ซมและลดหลั่นลงไปจนถึงลูกยอดซึ่งยาวประมาณ 29 ซม กว้างประมาณ 5.5 ซม ตัวรางระนาดยาวประมาณ 1 เมตร ปากราง กว้างประมาณ 20 ซม มีชานยื่นออกไปสองข้างราง ถ้านับส่วนกว้างรวมทั้งชานทั้งสองข้างด้วย รางระนาดทุ้มเหล็กจะกว้าง ประมาณ 36 ซม มีเท้ารองติดลูกล้อ 4 เท้า เพื่อให้เคลื่อนที่ไปมาได้สะดวก ตัวรางสูงจากพื้นถึงขอบบนประมาณ 26 ซมระนาด ทุกชนิดที่กล่าวมานั้น จะใช้ไม้ตี2 อัน

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องตี-ระนาด)

ระนาด

เป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ว่ามีวิวัฒนาการมาจาก กรับ แต่เดิมก็คงใช้ไม้กรับ 2 อันตีเป็นจังหวะแล้วต่อมาเกิดความรู้เอาไม้มาทำอย่างกรับหลายๆอัน วางเรียงตีให้เกิดเสียงหยาบๆขึ้นก่อนแล้วคิดทำไม้ รองรับเป็นรางวางเรียงราดไป เมื่อเกิดความรู้ความชำนาญขึ้นก็แก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน และทำรางรองให้อุ้มเสียงได้แล้วใช้เชือกร้อย "ไม้กรับ" ขนาดต่างๆนั้นให้ขึงติดอยู่บนราง ใช้ไม้ตีเกิดเสียงลดลั่นกันตามต้องการ ใช้เป็นเครื่องบรรเลงเพลงได้แล้วต่อมาก็ประดิษฐ์แก้ไขตัดแต่งใช้ตะกั่วกับขี้ผึ้งผสมกันติดหัวท้ายของไม้กรับถ่วงเสียงให้เกิดความไพเราะยิ่งขึ้น

จึงบัญญัติชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า "ระนาด" เรียก "ไม้กรับ" ที่ประดิษฐ์ขนาดต่างๆนั้นว่า "ลูกระนาด" และเรียกลูกระนาดที่ร้อยเชือกเข้าไว้เป็นแผ่นเดียวกันว่า "ผืน" นิยมใช้ไม้ไผ่บงมาทำเพราะว่าได้เสียงดี ทำรางเพื่อให้อุ้มเสียงเป็นรูปคล้ายลำเรือ ทางหัวและท้ายโค้งขึ้น เรียกว่า "ราง(ระนาด)" เรียกแผ่นปิดหัวและท้ายรางระนาดว่า "โขน" และเรียกรวมทั้งรางและผืนรวมกันเป็นลักษณะนามว่า "ราง" แต่เดิมมา ดนตรีวงหนึ่ง ก็มีระนาดเพียงรางเดียว และระนาดแต่เดิมคงมีจำนวนลูกระนาดน้อยกว่าในปัจจุบันนี้

ต่อมาได้เพิ่มลูกระนาดมากขึ้น และเมื่อมาคิดประดิษฐ์ระนาดอีกชนิดหนึ่งให้มีเสียงทุ้ม ฟังนุ่มไม่แกร่งกร้าวเหมือนชนิดก่อน จึงเลยเรียกระนาดอย่างใหม่นั้นว่า "ระนาดทุ้ม" และเรียกระนาดอย่างเก่าว่า "ระนาดเอก" เป็นคำผสมขึ้นในภาษาไทย ระนาดเอกปัจจุบันมีจำนวน 21 ลูก ลูกต้น ขนาดยาวราว 3๙ ซม. กว้างราว 5ซม. และหนา 1.5 ซม. ลูกต่อมาก็ลดหลั่นกันลงไปจนลูกที่ 21 หรือลูกยอด มีขนาดยาว 29 ซม. ลูกระนาดเหล่านั้นร้อยเชือกแขวนบนรางและรางนั้นวัดจาก "โขน" อีกข้างหนึ่ง ประมาณ 120 ซม. มีเท้ารองรางตรงส่วนโค้งตอนกลางเป็นเท้าเดี่ยว รูปอย่างพานแว่นฟ้า เครื่องดนตรีชนิดนี้ ปรากฏมีทั้งของชวา ของมอญและของพม่า ซึ่งพม่าเรียกว่า ปัตตลาร์ (Pattalar หรือBastran)

ระนาด เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง จัดเป็นเครื่องดนตรีชนิดเครื่องตี ประกอบด้วย ลูกระนาด ร้อยด้วยเชือก เรียกว่า "ผืน" แขวนไว้กับ ราง ซึ่งทำหน้าที่รองรับลูกระนาด (แขวนลอย ไม่ได้วางรายกับราง) และทำหน้าที่เป็นกล่องเสียงด้วย ผู้เล่นจะใช้ ไม้ตี จำนวน 2 อัน สำหรับตีลูกระนาดให้เกิดเป็นท่วงทำนอง

ไม้ตีระนาด มีด้วยกัน 2 แบบ คือ

1 ไม้นวม จะให้เสียงทีฟังแล้วรู้สึกได้ถึงความไพเราะ นุ่มนวลที่หัวของไม้ จะใช้ผ้าพันให้เป็นนวมก่อนจากนั้นจะใช้เส้นได้พันทับอีกที ไม้ตีระนาดชนิดนี้นิยมใช้เล่นบรรเลงในวงมโหรี,วงปี่พาทย์ไม้นวม
2 ไม้แข็ง ซึ่งจะให้เสียงที่ฟังแล้วรู้สึกถึงความมีอำนาจ และแข็งแกร่ง ลักษณะของไม้จะพันเช่นเดียวกันกับไม้นวม เพียงแต่จะชุบด้วย "รัก" เป็นระยะ และที่ชั้นนอกสุด แล้วจึงพันอีกครั้งด้วยผ้าดิบบางๆเป็นอันเสร็จ ทำให้ได้หัวไม้ที่แข็ง และสังเกตได้ง่ายๆที่สีของหัวไม้ซึ่งจะดำสนิท

ระนาดของไทย มี 4 ชนิด ดังนี้

  1. ระนาดทุ้ม
  2. ระนาดทุ้มเหล็ก
  3. ระนาดเอก
  4. ระนาดเอกเหล็ก

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องตี-อังกะลุง)


อังกะลุง

อังกะลุง เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง ทำจากไม้ เล่นด้วยการเขย่าให้เกิดเสียง นับเป็นเครีองดนตรีประเภทตี มีที่มาจากประเทศอินโดนีเซีย ใน ภาษาอินโดนีเซียเรียกว่า อังคะลุง หรือ อังกลุง (Angklung)

ประวัติอังกะลุง

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ได้รับความสุขโดยทั่วกัน หากผู้ใดได้รับทุกข์หรือเดือดร้อนประการใดพระองค์ทรงหาหนทางช่วยเหลือเสมอ ครั้งนั้นปรากฏว่า สมเด็จเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าพระยาภานุพันธ์วงค์วรเดช ทรงกลัดกลุ้มพระทัย เมื่อพระองค์ทรงทราบ จึงมีรับสั่งให้เข้าเผ้าเพื่อทรงไต่ถามทุกข์สุข เนื่องจากเสด็จในกรมเป็นอนุชาที่แสนเสน่หา พระองค์ทรงเห็นความทุกข์นั้น จึงทรงแนะนำและอนุญาตให้หาที่เสด็จประพาสให้ทรงเกษมสำราญ กรมสมเด็จพระอนุชาพอพระทัยทรงรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น จึงทรงดำริว่าจะเสด็จประพาสประเทศชวา

ดังนั้นในวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2450 สมเด็จเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าพระยาภานุพันธ์วงค์วรเดช จึงเสด็จจากกรุงเทพมหานคร มุ่งไปยังเมืองได ของประเทศชวาเป็นแห่งแรก และทรงตั้งพระทัยว่าจะเสด็จไปยังตำบล มาโตเออ การเดินทางไปลำบากมาก เนื่องจากยังไม่มียานพาหนะ เมื่อเสด็จถึงตำบลมาโตเออ พวกประชาชนมีอยู่ประมาณ 10 หมู่บ้าน ต่างก็พากันมาต้อนรับพระองค์ อย่างคับคั่งสมพระเกียรติในขณะที่ทรงประทับเยี่ยมเยียนราษฎรตำบลนั้น บรรดาชาวบ้านต่างนัด จัดดนตรี อย่างที่เรียกว่ากำมาลัง (มี ปีพาทย์ ฆ้อง กลอง ) นำมาเสดงถวายให้ทอดพระเนตร ประชันกันถึง 7 วงในหมู่ดนตรี มีแปลกอยู่ชนิดหนึ่ง ทำด้วยไม้ไผ่เป็นท่อน ๆ แขวนไว้เป็นตับ ตับละ 2 ท่อน ใช้ถือคนละ 1 ตับ ใช้เข่าเรียงเสียง และสลับเสียงไปตามทำนองของเพลงต่าง ๆ ได้ไพเราะน่าฟังมา ผิดกับเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ ที่ใช้บรรเลงด้วย ดีด สี ตี เป่า แต่ดนตรีชนิดนี้ใช้บรรเลงด้วยเข่าให้ขาส่วนล่างของกระบอกทั้งสองขาที่แขวนอยู่ในรางกระทบหรือตัวรางข้างหนึ่ง และอีกข้างหนึ่ง เช็คเสียงดังตามที่เทียบกระบอกเสียงไว้ เป็นเสียงสูงหรือต่ำกระบอกเสียง ใหญ่ กลาง เล็ก ผูกแขวนไว้รางเป็นตับ ๆ เมื่อเข่าไปตามเสียงทำนองของเพลงที่สับสน วนเวียน ตรงความเคลื่อนไหวของเสียงตามทำนองเพลงนั้น ๆ ได้น่าฟังมาก ดนตรีชนิดนี้แหละเรียกว่า "อังกะลุง" ในโอกาสนี้หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้ติดตามเสด็จไปด้วย

เมื่อพระองค์เสด็จกลับเมืองไทย จึงมีรับสั่งให้กงศุลไทยในชวา ซื้อดนตรีชนิดนี้ส่งมา 1 ชุด แล้วทรงนำดนตรีชนิดนี้ฝึกสอนมหาดเล็กของพระองค์ในวังบูรพาก่อน จึงเกิดมีดนตรีชนิดนี้ขึ้นในเมืองไทย ต่อมาก็ได้แพร่หลาย ออกไปทั่วประเทศ ดังนั้นจึงถือว่าพระองค์เป็นเจ้านายคนแรกที่ให้กำเนิดดนตรีชนิดนี้ขึ้นในประเทศไทย ทั้งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า อังกะลุงนี้ เป็นดงตรีที่แปลกชนิดหนึ่งผู้บรรเลงทุก ๆ คนต้องมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันตลอดเวลาที่บรรเลงเพลงทุก ๆ เพลงได้ ทั้งผู้เขย่าก็มีความสนุกสนานมากบางคนถึงกับเขย่าไปตามทำนองเพลงและมีผู้ประดิษฐ์ขึ้นในเมืองไทยสามารถทำเสียงสูงและต่ำกระบอกเสียงใหญ่ กลาง เล็ก ด้วยไม้ไผ่สายธรรมชาติ ตลอดจนรูปของตับอังกะลุง ได้ดัดแปลงแก้ไข ให้สวยงามและเหมาะสมให้ผิดไปจากของเดิมมากมาย อังกะลุงชวาที่นำเข้ามาครั้งแรกเป็นอังกะลุงชนิดคู่ ไม้ไผ่ 2 กระบอก มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก ยกเขย่าไม่ได้ ต้องใช้วิธีการบรรเลงแบบชวา คือมือหนึ่งถือไว้ อีกมือหนึ่งไกวให้เกิดเสียงอังกะลุงที่นำเข้ามาสมัยนั้น มี 5 เสียง ตามระบบเสียงดนตรีของชวา ทำด้วยไม้ไผ่ทั้งหมด ทั้งตัวอังกะลุงและราง ถายหลังได้มีการพัฒนาโดยขยายจำนวนไม้ไผ่เป็น 3 กระบอก และลดขนาดให้เล็กและเบาลงเพิ่มเสียงจนครบ 7 เสียง ในสมัยรัชกาลที่ 6 เชื่อกันว่า มีการพัฒนาการบรรเลง จากการไกว เป็นการเขย่าแทน

แบบของการบรรเลงอังกะลุงในปัจจุบัน

หลวงประดิษฐ์ไพเราะได้นำวงอังกะลุงจากวังบูรพาภิรมย์ไปแสดงครั้งแรกในงานทอดกฐินหลวง ที่วัดราชาธิวาส ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยทั่วไปเครื่องหนึ่งจะมีเสียงเดียว การเล่นอังกะลุงให้เป็นเพลงจึงต้องใช้อังกะลุงหลายเครื่อง โดยมักจะให้นักดนตรีถืออังกะลุงคนละ 1 - 2 เครื่อง เมื่อต้องการโน้ต เสียงใด นักดนตรีประจำเสียงนั้นก็จะเขย่าอังกะลุง การเล่นอังกะลุงจึงต้องอาศัยความพร้อมเพรียงเป็นอย่างมาก นอกจากอังกะลุงเครื่องละหนึ่งเสียงแล้ว ยังมีการผลิตอังกะลุงที่มีเครื่องหนึ่งมากกว่า 1 เสียงด้วย เรียกว่า อังกะลุงราว

ส่วนประกอบอังกะลุง

1. ไม้ไผ่ลาย ต้องเป็นไม้ที่มีความแกร่ง คือมีเนื้อไม้แข็งได้ที่ จึงจะมีเสียงไพเราะ และจะต้องมีลายที่สวยงาม ตัดไม้ให้เป็นท่อนตามขนาดที่ต้องการ แล้วนำมาตากแห้งย่างไม้กับไฟอ่อน ๆ นำมาอาบน้ำยากันมอด บ่มไม้โดยใช้ผ้าคลุ่มจะช่วยป้องกันมอดได้ หลังจากนั้นจึงนำมาเหลาตามเสียงที่ต้องการไม้ไผ่ลายเป็นไม้ไผ่ประเภทหนึ่ง ที่ปล่องไม้จะมีลายด่างเหมือนตกกระ เป็นโดยธรรมชาติทั่วทุกปล้อง จะเห็นลายเด่นชัดเมื่อมันแก่ เนื้อไม้ค่อนข้างบางเบาแต่แข็งแกร่ง ยิ่งแก่ก็ยิ่งแข็งแต่โบราณช่างทำดอกไม้ไฟจะนำมาประกอบการทำดอกไม้ไฟที่มีชื่อว่า “ ช้างร้อง ”เพราะทำให้้เกิดเสียง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จะหาไม้ไผ่ชนิดนี้ได้ง่ายแถบชานเมืองกรุงเทพส่วนมากจะขึ้นตามป่าช้าตามวัด (ที่ฝังศพ หรือเก็บศพก่อนเผา) ต่อมาก็มีคนนำมาปลูกตามสวนแต่ในปัจจุบันมักจะหาดูได้ในบางท้องที่ เช่นนนทบุรี ปราจีนบุรี เป็นต้น
2. รางไม้ เดิมจะใช้ไม้สักทองขุดเป็นราง เพื่อให้วางขาที่ฐานกระบอกลงในร่องที่ขุด ร่องที่เจาะจะมี 3 ร่อง และรูกลมอีก 5 รู สำหรับตั้งเสายึดตัวกระบอกอังกะลุง
3. เสาอังกะลุง มักทำด้วยไม้ไผ่เหลาเกลาหรือกลึงจนกลมเรียบ มีความยาวตามความสูงของกระบอกอังกะลุง ขนาดโตกว่ารูที่รางเล็กน้อย
4. ไม้ขวาง ทำจากไม้ไผ่เหลาแบบ ส่วนกลางปาดเนื้อไม้เป็นร่องลึกพอประมาณใช้สำหรับสอดผ่านช่องกระบอกอังกะลุง เพื่อยึดตัวกระบอกกับเสา
5. เชือก, กาว ใช้เป็นตัวยึดระหว่างไม้ขวาง กับเสา
6. สี, น้ำมันชักเงา ใช้ตกแต่งตัวอังกะลุงให้มีความสวยงาม เป็นเงางาม

ส่วนประกอบต่าง ๆ ของอังกะลุงจะนำมาประกอบขึ้นเป็นอังกะลุง 1 ตับ โดยการนำเอากระบอกไม้ไผ่ลายที่เหลาและเทียบเสียงอย่างถูกต้องแล้ว (เทียบกับขลุ่ยเพียงออ ระนาด หรือกับเครื่องดนตรีสากล เช่น ปี่คลาริเนต เมโลดิก้า ออร์แกน ) จำนวน 3 กระบอก 3 ขนาด ( แต่ละกระบอกจะมีเสียงสูง กลาง ต่ำ แต่อยู่ในระดับเสียงเดียวกัน ) มาเจาะรูปพระจันทร์ครึ่งซีก นำมาประกอบกับรางไม้ ยึดกับเสา และไม้ขวางด้วยเชือกและกาว แล้วนำมาตกแต่งด้วยสีหรือน้ำมันเคลือบเงา

อังกะลุง เป็นเครื่องดนตรีที่ทำด้วยวัสดุธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่จึงมักจะชำรุดง่าย โดยเฉพาะอันตรายจากตัวมอดซึ่งเป็นตัวทำลายเนื้อไม้ให้ผุ เมื่อมอดกินเนื้อไม้ จะทำให้น้ำหนักของอังกะลุงจะเบาขึ้น เสียงก็จะเปลี่ยนไป การที่นำอังกะลุงมาบรรเลงบ่อย ๆอย่างสม่ำเสมอ จะมีผลดี คือทำให้มอดไม่กินหรือกินบ้างแต่ก็ช้าลง แต่ถ้าเก็บไว้เฉย ๆ จะทำให้เสียง่าย การวางอังกะลุง ก็ควรวางเบา ๆ และจะต้องพิงไว้ในลักษณะเอียงเอนเสมอ เพื่อป้องกันการตก หรือล้มกระแทกซึ่งอาจทำให้้กระบอกอังกะลุงแตกได้ สภาพดินฟ้าอากาศก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เสียงเพี้ยนได้ โดยเฉพาะความชื้น การบรรเลงในห้องปรับอากาศก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้เสียงของอังกะลุง เปลี่ยนไปจากเดิมได้

วงอังกะลุง

อังกะลุงอาจเล่นเป็นวงดนตรีอังกะลุงโดยเฉพาะ หรือเล่นรวมกับเครื่องดนตรีอื่นๆ ก็ได้ มักพบในวงดนตรีของสถาบันการศึกษา มากกว่าวงดนตรีอาชีพ

วงอังกะลุงวงหนึ่งจะมีอังกะลุงอย่างน้อย 7 คู่ และมีเครื่องประกอบจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง, ฉาบเล็ก, กรับ, โหม่ง, กลองแขก นอกจากนี้มักมีเครื่องตกแต่งเพื่อเพิ่มความสวยงาม เช่น ธงชาติ, หางนกยูง เป็นต้น

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องตี-ฉิ่ง/ฉาบ)

ฉิ่ง


เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทตี ทำด้วยทองเหลือง หล่อหนา ปากผายกลม 1 ชุดมี 2 ฝา ฉิ่งมี 2 ชนิดคือ ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์ และ ฉิ่งที่ใช้สำหรับวงเครื่องสาย และวงมโหรี ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์มีขนาดที่วัดฝ่านศูนย์กลาง จากขอบข้างหนึ่งไปสุดขอบอีกข้างหนึ่ง กว้างประมาณ 6 – 6.5 ซม เจาะรูตรงกลางสำหรับร้อยเชือก เพื่อให้จับสะดวกขณะตี ส่วนฉิ่งสำหรับวงเครื่องสายและวงมโหรีนั้น มีขนาดเล็กกว่า วัดผ่านศูนย์กลางได้ขนาดประมาณ 5.5 ซม เนื่องจากการตีฉิ่ง ต้องเอาขอบของฝาข้างหนึ่งกระทบกับอีกฝากหนึ่ง แล้วยกขึ้น ก็จะมีเสียงดังกังวานยาวดัง “ฉิ่ง” แต่ถ้าเอาทั้ง 2 ฝานั้นกระทบและประกบกันไว้ จะได้ยินเสียงดังสั้นๆดัง “ฉับ” ดังนั้นการเรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า ฉิ่ง ก็เพราะเรียกตามเสียงที่เกิดขึ้นนั่นเอง

การตีฉิ่ง

เสียงของฉิ่งมี 2 เสียงคือ จังหวะเบา มีเสียงเป็น "ฉิ่ง" และจังหวะหนักมีเสียงเป็น "ฉับ" เสียงฉับถือว่าเป็นเสียงจังหวะตก การตีฉิ่งที่ถูกต้องจะต้องให้เสียง "ฉับ" อยู่ที่จังหวะตก หรือสิ้นสุดของจังหวะ ถ้าหากสิ้นจังหวะเป็น "ฉิ่ง" จะทำให้กลางเป็นเสียง "ฉับ ฉิ่ง" ถือว่าตีผิดวิธี และเรียกการตีฉิ่งอย่างนี้ว่า ตีฉิ่งหงาย ไม่ใช่หงายฉิ่ง ทำให้ผู้ฟังเกิดความรำคาญได้

ฉาบ


ฉาบเป็นเครื่องดนตรีประเภทตี ประกอบจังหวะ ทำด้วยโลหะคล้ายฉิ่ง แต่หล่อให้บางกว่า ฉาบมี 2 ชนิดคือฉาบเล็ก และ ฉาบใหญ่ ฉาบเล็กมีขนาด ที่วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 –14 ซม ส่วนฉาบใหญ่มีขนาดที่วัดผ่าน ศูนย์กลางประมาณ 24 –26 ซม เวลาบรรเลงใช้ 2 ฝามาตีกระทบกันให้เกิดเสียงตามจังหวะ เมื่อฉาบทั้งสองข้างกระทบกันขณะตีประกบกันก็ จะเกิดเสียง ฉาบ แต่ถ้าตีแล้วเปิดเสียงก็จะได้ยินเป็น แฉ่ง แฉ่ง แฉ่ง เป็นต้น







วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องตี-ฆ้อง)

ฆ้อง เป็นเครื่องดนตรีประเภทเพอร์คัชชันทำด้วยโลหะที่มีหลายรูปแบบ คำว่า "ฆ้อง" นั้นมีที่ว่าจากภาษาชวา ปรากฏการใช้ฆ้องในหลายชาติในทวีปเอเชีย เช่น จีน อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย เป็นต้น ปัจจุบันฆ้องเข้าไปมีส่วนในดนตรีตะวันตกด้วยเช่นกัน

ฆ้อง มีหลายขนาดและประเภท บางชนิดเป็นเพียงเครื่องตีให้สัญญาณ เช่น ฆ้องกระแต ใช้ตีบอกสัญญาณเข้าเวรยาม, ฆ้องชัย ใช้ตีบอกสัญญาณในกองทัพสมัยโบราณ เป็นต้น บางท้องถิ่นเรียกว่า โหม่งด้วยโลหะ

ตัวฆ้องทำด้วยโลหะแผ่นรูปวงกลมตรงกลางทำเป็นปุ่มนูน เพื่อใช้รองรับการตีให้เกิดเสียงเรียกว่า ปุ่มฆ้อง ต่อจากปุ่มเป็นฐานแผ่ออกไป แล้วงองุ้มลงมาโดยรอบเรียกว่า "ฉัตร" ส่วนที่เป็นพื้นราบรอบปุ่มเรียกว่า "หลังฉัตร" หรือ " ชานฉัตร" ส่วนที่งอเป็นขอบเรียกว่า "ใบฉัตร" ที่ใบฉัตรนี้จะมีรูเจาะสำหรับร้อยเชือกหรือหนังเพื่อแขวนฆ้อง ถ้าแขวนตีทางตั้งจะเจาะสองรู ถ้าแขวนตีทางนอนจะเจาะสี่รู

การบรรเลง ฆ้องใช้ในการบรรเลงได้สองลักษณะคือ ใช้ตีกำกับจังหวะ และใช้ตีดำเนินทำนอง
ฆ้องที่ใช้ตีกำกับจังหวะได้แก่ ฆ้องหุ่ย หรือฆ้องชัย ฆ้องโหม่ง ฆ้องเหม่ง ฆ้องระเบ็ง และฆ้องคู่
ฆ้องที่ใช้ตีดำเนินทำนอง ได้แก่ ฆ้องราง ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ฆ้องมโหรี ฆ้องมอญ ฆ้องกะแตและฆ้องหุ่ย หรือฆ้องชัย ฆ้องกะแต ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ ลูกฆ้องมีขนาดเล็ก จำนวน ๑๑ ลูก

ฆ้องมโหรี
ฆ้องมโหรี เป็นฆ้องวงที่ใช้บรรเลงในวงมโหรีโดยเฉพาะ มีอยู่สองขนาด คือฆ้องวงใหญ่มโหรีและฆ้องวงเล็กมโหรี ฆ้องวงใหญ่มโหรีเดิมมีลูกฆ้อง ๑๗ ลูก ต่อมานิยมใช้ ๑๘ ลูก

ฆ้องมอญ
เป็นฆ้องวงที่ตั้งโค้งขึ้นไปทั้งสองข้าง ไม่วางราบไปกับพื้นเหมือนกับฆ้องไทย วงฆ้องส่วนที่โค้งขึ้นไปนั้น แกะสลักเป็นลวดลายปิดทองประดับกระจกอย่างงดงาม ส่วนมากมักแกะเป็นรูปกินนร เรียกกันว่าหน้าพระ ตอนกลางโค้งแกะเป็นกระหนกใบเทศปิดทองประดับกระจกเช่นกัน มีเท้ารองตรงกลางเหมือนกับเท้าของระนาดเอก ฆ้องมอญวงหนึ่งๆมีจำนวน 15 ลูก สำหรับใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ วงฆ้องมอญมี 2 ชนิดเช่นเดียวกับฆ้องไทย คือมีฆ้องมอญใหญ่ และ ฆ้องมอญเล็ก

ฆ้องระเบ็ง

ฆ้องระเบ็ง ใช้ตีประกอบการและแสดงระเบ็ง ชุดหนึ่งมีสามลูก มีขนาดและให้เสียงสูง-ต่ำ ต่างกัน มีชื่ออีกอย่างหนึ่งตามลักษณะว่า "ฆ้องราว" ฆ้องราง ใช้ตีดำเนินทำนอง ชุดหนึ่งมี ๗-๘ ลูก เสียงลูกที่ ๑ กับลูกที่ ๘ เป็นเสียงเดียวกัน แต่ต่างระดับเสียง ปัจจุบันไม่มีการใช้ในวงดนตรีไทย

ฆ้องวงใหญ่

เป็นเครื่องดนตรีที่คิดประดิษฐ์ขึ้นมาจากฆ้องเดี่ยว ฆ้องคู่ และฆ้องราว วงฆ้องใช้ต้นหวายโป่งทำเป็นร้าน สูงประมาณ 24 ซม ระหว่างหวายเส้นนอกกับหวายเส้นในห่างกันประมาณ 14 – 17 ซม ดัดให้โค้งเป็นวงรอบตัวคนนั่งตี เปิดช่องด้านหลังคนตีเป็นทางเข้า ระยะห่างประมาณ 20 – 30 ซม วงฆ้องต้องดัดให้พอดีสำหรับคนเข้าไปนั่ง่ตีได้ไม่อึดอัด ลูกฆ้องวงหนึ่งมี 16 ลูก ลูกเสียงต่ำสุดเรียกว่า ลูกทวน ลูกเสียงสูงสุดเรียกว่า ลูกยอด ลูกต้นวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 17 ซม อยู่ทางซ้ายมือด้านหลังผู้ตี ลูกยอดวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 ซม อยู่ทางขวามือด้านหลังผู้ตี ไม้ตีทำด้วยแผ่นหนังดิบ ตัดเป็นวงกลมเจาะกลางสอดด้ามไม้สำหรับถือ


ฆ้องวงเล็ก

เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีขนาดย่อมกว่าฆ้องวงใหญ่ วัดจากขอบวงในด้านซ้ายมือถึงของวงในด้านขวา กว้างประมาณ 80 ซม. เรือนฆ้องสูง 20 ซม. ฆ้องวงเล็กมีทั้งหมด 18 ลูก: ลูกต้น วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 13 ซม., ลูกยอด มีขนาดประมาณ 9.5 ซม. ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์ โดยในวงปี่พาทย์วงหนึ่งนั้น จะใช้ฆ้อง 2 วง คือ ฆ้องวงใหญ่ และ ฆ้องวงเล็ก


ฆ้องหุ่ย

ฆ้องหุ่ย ใช้ตีกำกับจังหวะ เป็นฆ้องที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในวงดนตรีไทย มีอีกชื่อว่า ฆ้องชัย อาจเป็นเพราะสมัยโบราณ ใช้ฆ้องชนิดนี้ตีเป็นสัญญาณในกองทัพ ปัจจุบันใช้ตีใน งานพิธี งานมงคลต่าง ๆ

ฆ้องโหม่ง

ฆ้องโหม่ง ใช้ตีกำกับจังหวะ มีขนาดใหญ่ รองลงมาจากฆ้องหุ่ย ได้ชื่อนี้ตามเสียงที่เกิดจากการตี



ฆ้องที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา

ปัจจุบัน ฆ้องถูกนำไปใช้ร่วมกับพิธีกรรมต่างๆ โดยนิยมซื้อไปถวายวัด เพราะเชื่อกันว่าจะ ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดัง ปัจจุบัน แหล่งผลิต ฆ้องของประเทศไทย อยู่ที่บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มีมากมายหลายขนาด จัดเป็นสินค้าโอทอป ของตำบล โดย ฆ้อง จะมีโฉลก แบ่ง ตามความเชื่อของชาวอิสาน ดังนี้

- สิทธิชัยมังคลโชค

- ตีอวดโลกป่าวเดียวดาย

-เสียงดังไกลบ่มั่ว

- เสียงดังทั่วเท่าแผ่นธรณี

-แสน มเหสีมานั่งเฝ้า

- เป็นเจ้าแผ่นทองเหลือง

- แห่ขุนเมืองขึ้นนั่งแท่น

- แสนขุนแหล่นมาเต้า

- ตีโอนอ้าวเสพขอนผี

- นางธรณีตกใจกลัวสะท้าน

- ตีออกบ้านผามเอาชัย

โฉลกนิยมใช้มือคืบ กำปั้น ทางภาคอีสานใช้กำปั้นเรียงตามโฉลก 11 โฉลก

ฆ้องในวงออร์เคสตรา

บางครั้งเรียกว่าแทมแทม (tam-tam มีที่มาจากภาษาจีน)
มีลักษณะเป็นฆ้องแบบแบน ไม่มีระดับเสียง มีได้หลายขนาด ฆ้องสามารถให้ได้ทั้งเสียงนุ่มลึกลับ และเสียงที่ดังกร้าว ขึ้นอยู่กับวิธีการตี ตำแหน่งการตีที่ดีที่สุดอยู่ที่บริเวณโดยห่างจากจุดศูนย์กลางเล็กน้อย ไม้สำหรับตีฆ้องเป็นไม้หัวนุ่ม

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องตี-กรับ)

เป็นเครื่องดนตรีประเภทที่สร้างเสียงดนตรีด้วยการใช้ของสองสิ่งกระทบกัน หรือตีกัน นับว่าเป็นเครื่องดนตรีประเภท เก่าแก่ที่สุดที่ที่มนุษย์รู้จักใช้ ได้มีวิวัฒนาการจากอุปกรณ์ง่ายๆ ให้มี ความหลากหลายออกไปทั้งรูปแบบและวัสดุที่ใช้ สำหรับเครื่องดนตรีไทย ที่เป็นประเภทเครื่องตีมีดังนี้

เครื่องตีที่ทำด้วยไม้

กรับ ทำด้วยไม้หรือโลหะ วิธีตี ใช้มือหนึ่งถือกรับ แล้วตีกรับลงไปบนอีกมือหนึ่งที่รองรับ ทำให้เกิดเสียงกระทบจากแผ่นไม้ หรือแผ่นโลหะดังกล่าว ใช้ตีในการบรรเลงมโหรี โบราณ เล่นเพลงเรือ และโขนละคร

กรับ เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง มีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ กรับคู่ กรับพวง และกรับเสภา

กรับคู่
ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก เหลาให้เรียบและเกลี้ยงอย่าให้มีเสี้ยน มีรูปร่างแบนตามซีกไม้ไผ่ หนาตามขนาดของเนื้อไม้ยาวประมาณ 40 ซม ทำเป็น 2 อันหรือเป็นคู่ ใช้ตีให้ผิวกระทบกันทางด้านแบนเกิดเป็นเสียง กรับ
เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ทำจังหวะประกอบร่วมกับฉิ่ง จัดเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของมวลมนุษยชาติ แรกเริ่มทีเดียวคงพัฒนามาจากการปรบมือของมนุษย์ เมื่อปรบมือนานเข้าคงจะเกิดอาการเจ็บมือ ซ้ำซาก หลังจากนั้นอาจจะพบเศษไม้ใกล้ตัวก็นำมาเคาะ การใช้ไม่เคาะแทนการปรบมือนั้น นอกจากจะไม่เจ็บมือแล้วยังเพิ่มสีสันของเสียงในการบรรเลงอีกด้วย ภายหลังได้นำมาเหลาเพื่อให้เกิดความสวยงามและความสะดวกในการใช้

กรับพวง
เป็นกรับชนิดหนึ่งตอนกลางทำด้วยไม้บางๆหรือแผ่นทองเหลือง หรืองาหลายๆอันและทำไม้แก่น 2 อันเจาะรูตอนหัวร้อยเชือกประกบไว้ 2 ข้างเหมือนด้ามพัด เวลาตีใช้มือหนึ่งถือตรงหัวทางเชือกร้อย แล้วฟาดลงไปบนอีกฝ่ามือหนึ่ง เกิดเป็นเสียงกรับขึ้นหลายเสียง จึงเรียกว่ากรับพวงใช้เป็นอานัตสัญญาณ เช่นในการเสด็จออกในพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าพนักงานจะรัวกรับ และใช้กรับพวงตีเป็นจังหวะ ในการขับร้อง เพลงเรือ ดอกสร้อยและใช้บรรเลงขับร้องในการแสดง นาฎกรรมด้วย

กรับเสภา
ทำด้วยไม้แก่น เช่นไม้ชิงชัน ยาวประมาณ 20 ซม หนาประมาณ 5 ซม เหลาเป็นรูป 4 เหลี่ยมแต่ลบเหลี่ยม ออกเพื่อมิให้บาดมือและให้สามารถกลิ้งตัวของมันเองกลอก กระทบกันได้โดยสะดวก ใช้บรรเลงประกอบในการขับเสภา เวลาบรรเลงผู้ขับเสภาจะใช้กรับเสภา 2 คู่ รวม 4 อัน ถือเรียงกันไว้บนฝ่ามือของตนข้างละคู่ กล่าวขับเสภาไปพลาง มือทั้ง 2 ข้างก็ขยับกรับแต่ละข้างให้กลอกกระทบกันเข้าจังหวะ กับเสียงขับเสภา จึงเรียกกรับชนิดนี้ว่า กรับเสภา

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องสี)

เครื่องสี

เป็นเครื่องสายที่ทำให้เกิดเสียงด้วยการใช้คันชักสีเข้ากับสายในดนตรีไทย
มีอยู่ 3 ชนิดคือ
  1. ซอด้วง
  2. ซอสามสาย
  3. ซออู้

ซอด้วง
เป็นซอชนิดหนึ่งของไทย ให้เสียงสูงแหลม การที่ได้ชื่อนี้เพราะส่วนที่เป็นเครื่องอุ้มเสียง มีรูปร่างคล้ายเครื่องดักสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ด้วง

ซอด้วงเป็นซอสองสาย มีคันทวนยาวประมาณ 72 ซม คันชักยาวประมาณ 68 ซม ใช้ขนหางม้าประมาณ 120 – 150 เส้น กะโหลกของซอด้วงนั้น แต่เดิมใช้กระบอกไม้ไผ่มาทำ ปากกระบอกของซอด้วงกว้างประมาณ 7 ซม ตัวกระบอกยาวประมาณ 13 ซม กะโหลกของซอด้วงนี้ ในปัจจุบันใช้ไม้จริง หรือ งาช้างทำก็ได้ แต่ที่นิยมว่าเสียงดีนั้น กะโหลกซอด้วงต้องทำด้วยไม้ลำเจียก ส่วนหน้าซอนิยมใช้หนัง งูเหลือมขึง เพราะทำให้เกิดเสียงแก้วเกิดความไพเราะอย่างยิ่ง ลักษณะขอซอด้วง มีรูปร่างเหมือนกับซอของจีนที่เรียกว่า “ฮู – ฉิน “ (Huchin) ทุกอย่าง


ส่วนประกอบของซอด้วง มีดังนี้

กระบอก เป็นส่วนที่อุ้มเสียงให้เกิดกังวาน รูปร่างเหมือนกระบอกไม้ไผ่ ทำด้วยไม้เนื้อแข็งบางทีทำด้วยงาช้าง ไม้ที่ใช้ทำต่างชนิดกันจะให้คุณภาพเสียงต่างกัน เช่น เสียงนุ่ม เสียงกลม เสียงแหลม เป็นต้น ด้านหน้าของกระบอกมีวัสดุบาง ๆ ขึงปิด นิยมใช้หนังงูเหลือม นอกนั้นอาจเป็นหนังลูกวัว หนังแพะ หรือใช้กระดาษว่าวปิดซ้อนกันหลาย ๆ ชั้นก็ได้

คันซอ ทำด้วยไม้หรืองาช้าง ลักษณะกลมยาว สอดปักที่กระบอกตั้งตรงขึ้นไป แบ่งออกเป็น ๒ ช่วง ช่วงบนตั้งแต่ใต้ลูกปิดขึ้นไปจนถึงปลายคัน รูปร่างคล้ายโขนเรือ เรียกว่า "โขน" ปลายโอนโค้งงอนไปทางด้านเปิดของกระบอก ช่วงล่วงนับตั้งแต่ลูกบิดลงไปเรียกว่า "ทวนล่าง"

ลูกบิด มีอยู่สองลูก เสียบอยู่ที่ช่วงล่างของโขน ปลายลูกบิดเจาะรูไว้สำหรับร้อยสายซอ เพื่อขึงให้ตึงตามที่ต้องการ ลูกบิดลูกบน สำหรับสายเสียงต่ำ เรียกว่า ลูกบิดสายทุ้ม ลูกบิดลูกล่าง สำหรับสายที่มีเสียงสูง เรียกว่า ลูกบิดสายเอก

รัดอก เป็นบ่วงเชือกสำหรับรั้งสายซอ นิยมใช้ขนาดเดียวกับสายเอก ใช้ผูกรั้งสายซอทั้งสองเข้ากับทวนล่าง

หย่อง เป็นไม้ชิ้นเล็กใช้หมุนสายซอให้พ้นขอบกระบอก และเป็นตัวรับความสั่นสะเทือนจากสายซอไปสู่หน้าซอ

คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งหรืองาช้าง รูปโค้ง ด้ามมือจับมีหมุดสำหรับให้เส้นหางม้าคล้อง อีกด้านหนึ่งเจาะรูไว้ร้อยเส้นหางม้า ซึ่งมีประมาณ 250 เส้น สอดเส้นหางม้าให้อยู่ภายในระหว่างสายเอกกับสายทุ้ม สำหรับสี การเทียบเสียง เทียบเสียงให้ตรงกับเสียงขลุ่ยเพียงออ ทั้งสายเอกและสายทุ้ม โดยใช้สายเอกเป็นหลัก



ซอสามสาย
มีขนาดใหญ่กว่าซอด้วงหรือซออู้ และมีลักษณะพิเศษ คือมีสามสาย มีคันชักอิสระ กะโหลกซอมีขนาดใหญ่ นับเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสง่างามชิ้นหนึ่งในวงเครื่องสาย ผู้เล่นจะอยู่ในตำแหน่งด้านหน้าของวง ปรากฏหลักฐานจากจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ (หน้า 30) ที่บันทึกไว้ว่า “….ชาวสยามมีเครื่องดุริยางค์เล็กๆ น่าเกลียดมาก มีสามสายเรียกว่า “ซอ” ….” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนนั้น มีการเล่นซอสามสายแล้ว และลักษณะรูปร่างของซอสามสายก็คงจะยังไม่สวยงามมากอย่างในปัจจุบันนี้

จนมาถึงยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 สืบเนื่องมาจากที่พระองค์ท่านมีอัจฉริยภาพในทางศิลปะด้านต่างๆ และโปรดทรงซอสามสายเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้พระองค์ท่านได้ประดิษฐ์คิดสร้างซอสามสายได้ด้วยความประณีต งดงาม และเป็นแบบอย่างมาจนถึงปัจจุบัน

ซอสามสาย จึงเป็นซอชนิดหนึ่งที่มีเสียงไพเราะ นุ่มนวล รูปร่างวิจิตรสวยงามกว่าซอชนิดอื่น ถือเป็นเครื่องดนตรีชั้นสูง ใช้ในราชสำนัก

ส่วนประกอบของซอสามสาย มีดังนี้

กะโหลก ทำด้วยกะลามะพร้าว ตัดตามด้านขวาง ด้านหน้าต่อติดกับกรอบไม้เนื้อแข็ง เดิมนิยมใช้ไม้สักเรียกว่า "ขนงไม้สัก" มีรูปร่างคล้ายกรอบหน้านาง ใช้หนังลูกวัวหรือหนังแพะขึงปิดทับขอบขนงไม้สักและขอบกะลาให้ตึงพอดี

คันซอ แบ่งออกเป็นสามส่วน คือ
  • ทวนบน คือ ส่วนที่นับจากรอบต่อเหนือรัดอกขึ้นไป
  • ทวนกลาง คือ ส่วนต่อจากทวนบนลงมาถึงกะโหลก
  • ทวนล่างหรือแข้งไก่ คือ ส่วนที่ต่อจากกะโหลก ลงไปรวมทั้งเข็มที่ทำด้วยโลหะ ซึ่งอยู่ปลายล่างสุด

ลูกบิด มีสามลูก ลูกล่างสำหรับสายเอก ลูกบนสำหรับสายกลาง สองลูกนี้อยู่ทางขวา ทางซ้ายมีลูกเดียว สำหรับสายทุ้ม หรือสายสาม

รัดอก มักใช้สายไหมฟั่นเกลียวแบบสายซอ พันรอบทวนกลาง ใช้รัดสายทั้งสาม ให้แนบเข้ากับทวนกลาง เพื่อให้เสียงของสายเปล่าได้ระดับและมีความกังวาน

หย่อง ทำด้วยไม้หรืองา เหลาเป็นรูปคันธนูให้ได้ขนาดพอรับสายซอทั้งสามสาย บนหย่องบากร่องไว้ สามตำแหน่ง เพื่อรองรับสายซอ

ถ่วงหน้า ทำด้วยแก้วหรือโลหะ ขึ้นรูปเป็นตลับกลมเล็ก ๆ ข้างบนประดับพลอยสีต่าง ๆ หรือถม หรือลงยา ภายในบรรจุสีผึ้งผสมตะกั่ว เพื่อให้ได้น้ำหนัก ใช้ชันปิดหน้า ใช้ปรับเสียงให้สายเอกเข้ากับสายทุ้ม

หนวดพราหมณ์ ใช้สายไหมฟั่นเกลียวอย่างสายซอ ผูกเป็นสายบ่วง ร้อยเข้าไปในรูที่ทวนล่าง เพื่อรั้งปมปลายสายซอทั้งสาม

คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งและเหนียวโดยมากนิยมใช้ไม้แก้ว เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง และมีลวดลายงดงามกลึงให้ได้รูป ขึงด้วยขนหางม้าสีขาวประมาณ 250-300 เส้น

เสียงของซอสามสาย

สายเอก ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง ซอล และใช้ปลายนิ้วแตะที่ข้างสายโดยใฃ้นิ้วชี้ จะเป็นเสียง ลา, ใช้นิ้วกลางแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียง ที, ใช้นิ้วนางแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียงโด, ใช้นิ้วก้อยแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียง เร (เสียงสูง) , ใช้นิ้วก้อยรูดที่สายจะเป็นเสียง มี (เสียงสูง)

สายกลาง ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง เร และใช้นิ้วชี้กดลงบนสายจะเป็นเสียง มี, ใช้นิ้วกลางกดลงบนสายจะเป็นเสียง ฟา, ใช้นิ้วนางกดลงบนสายเป็นเสียง ซอล

สายทุ้ม ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง ลา และใช้นิ้วชี้กดลงที่สายจะเป็นเสียง ที, ใช้นิ้วกลางกดลงที่สายจะเป็นเสียง โด, ใช้นิ้วนางกดลงที่สายจะเป็นเสียง เร



ซออู้
ซอสองสาย ตัวกะโหลกทำด้วยกะลามะพร้าว โดยตัดปาดกะลาออกเสียด้านหนึ่ง และใช้หนังลูกวัวขึงขึ้นหน้าซอ กว้างประมาณ 13 – 14 ซม เจาะกะโหลกให้ทะลุตรงกลาง เพื่อใส่คันทวนที่ทำด้วยไม้จริง ผ่านกะโหลกลงไป ออกทะลุรูตอนล่างใกล้กะโหลก คันทวนซออู้นี้ ยาวประมาณ 79 ซม ใช้สายซอสองสายผูกปลายทวนใต้กะโหลก แล้วพาดผ่านหน้าซอ ขึ้นไปผูกไว้กับ ลูกบิดสองอัน ลูกบิดซออู้นี้ยาวประมาณ 17 –18 ซม โดยเจาะรูคันทวนด้านบน แล้วสอดลูกบิดให้ทะลุผ่านคันทวนออกมา และใช้เชือกผูกรั้งกับทวนตรงกลางเป็นรัดอก เพื่อให้สายซอตึง และสำหรับเป็นที่กดสายใต้รัดอกเวลาสี ส่วนคันสีของซออู้นั้นทำด้วย ไม้จริงยาวประมาณ 70 ซม ใช้ขนหางม้าประมาณ 160 - 200 เส้น ตรงหน้าซอใช้ผ้าม้วนกลมๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นหมอนหนุน สายให้พ้นหน้าซอ ด้านหลังของกะโหลกซอ แกะสลักเป็นรูปลวดลายสวยงาม และเป็นช่องทางให้เสียงออกด้านนี้ด้วย

ซออู้มีรูปร่างคล้ายๆกับซอของจีนที่เรียกว่า ฮู – ฮู้ ( Hu-hu ) เหตุที่เรียกว่าซออู้ก็เพราะ เรียกตามเสียงที่ได้ยินนั่นเอง ซอด้วงและซออู้ ได้เข้ามามีบทบาทในวงดนตรีเครื่องสายตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 นี่เอง โดยได้ดัดแปลงมาจาก วงกลองแขกเครื่องใหญ่ ซึ่งมีเครื่องดนตรีที่ทำลำนำประกอบด้วย ซอด้วง ซออู้ จะเข้ และ ปี่อ้อ ต่อมาได้เอากลองแขก ปี่อ้อ ออก และเอา ทับกับรำมะนา และขลุ่ยเข้ามาแทน เรียกวงดนตรีชนิดนี้ว่า วงมโหรีเครื่องสาย มีคนเล่นทั้งหมด 6 คน รวมทั้ง ฉิ่งด้วย

ซออู้ มีเสียงทุ้มกังวาน ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายซอด้วง
มีส่วนประกอบ ดังนี้

กะโหลก ทำด้วยกะลามะพร้าว ตัดส่วนที่กว้างใกล้กับขั้ว ให้พูทั้งสามอยู่ด้านบน ใช้หนังลูกวัวหรือหนังแพะ ขึงเป็นหน้าตรงที่ตัด
คันซอ ทำด้วยไม้หรืองาช้างกลึง แบ่งเป็นสองส่วน คือ ทวนบน นับตั้งแต่ลูกบิด ไปถึงปลายคัน ทวนล่างนับตั้งแต่ลูกบิดลงมาที่ตัวคันมีลวดหรือลูกแก้วคั่นเป็นระยะ ปลายทวนล่างสอดทะลุ กะโหลกลงไป เพื่อคล้องสายซอทั้งสองเส้น
ลูกบิด มีสองลูก เสียบอยู่ที่ทวนบน ใช้ขึงสายซอ ซึ่งทำให้ด้วยไหมฟั่นเป็นเกลียว หรือทำด้วยเอ็นผูกคล้องปลายทวนล่างสุด ลูกบนสำหรับสายทุ้ม ลูกล่างสำหรับสายเอก
รัดอก เป็นบ่วงเชือกใช้ลูกล่างสำหรับสายเอกรั้งสายซอ เพื่อให้ได้คู่เสียงสายเปล่าชัดเจน
หมอน เป็นวัสดุที่วางหมุนระหว่างหน้าซอกับสายซอเพื่อให้ได้เสียงกับวาน บางทีเรียกว่า หย่อง
คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง กลึงให้ได้รูป ขึงเส้นหางม้า ประมาณ ๒๕๐ เส้น เส้นหางม้านี้จะสอดเข้าระหว่าง สายเอกกับสายทุ้ม การเทียบเสียง สายเอกมีระดับเสียงตรงกับสายทุ้มของซอด้วง สายทุ้มมีเสียงต่ำกว่าสายเอก ๕ เสีย

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องดีด)

เครื่องดนตรีไทยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะการเล่น ดังนี้

  1. เครื่องดีด
  2. เครื่องสี
  3. เครื่องตี
  4. เครื่องเป่า

เครื่องดีด

เป็นเครื่องดนตรีไทยที่บรรเลงหรือเล่นด้วยการใช้นิ้วมือ หรือไม้ดีด ดีดสาย ให้สั่นสะเทือนจึงเกิดเสียงขึ้น เครื่องดนตรีไทยประเภทนี้มีหลายชนิด แต่ที่นิยมเล่น กันแพร่หลาย ในปัจจุบันมีอยู่ไม่กี่ชนิด คือ กระจับ พิณ และจะเข้

กระจับปี่
เป็นพิณชนิดหนึ่ง มี 4 สาย กระพุ้งพิณมีลักษณะ เป็นกล่องแบน รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูมุมมนด้านหน้าทำเป็นช่อง ให้เสียงกังวาน ทวนทำเป็นก้านเรียวยาวและกลมกลึงปลายแบน และงอนโค้งไปด้านหลัง ตรงปลายทวนมีลิ่มสลักเป็นลูกบิดไม้ สำหรับขึ้นสาย 4 ลูก สายส่วนมากทำด้วยสายเอ็น หรือลวดทองเหลือง ตลอดแนวทวนด้านหน้าทำเป็น "สะพาน"หรือ นม ปักทำด้วยไม้ เขาสัตว์หรือกระดูกสัตว์ สำหรับหมุนสายมี 11 นมกระจับปี่พัฒนามาจากเครื่องดนตรีประเภทหนึ่งของอินเดีย มีต้นกำเนิดจากการดีดสายธนูตามหลักฐานพบว่า กระจับปี่มีมาตั้งแต่ สมัยสุโขทัย

พิณน้ำเต้า
สันนิษฐานว่า พิณมีกำเนิดในประเทศ ทางตะวันออก พิณโบราณเรียนพิณน้ำเต้า ซึ่งมีลักษณะเป็น พิณสายเดี่ยว สันนิษฐานว่าชาวอินเดียนำมาแพร่หลาย ในดินแดนสุวรรณภูมิ การที่เรียกว่าพิณน้ำเต้า เพราะใช้ เปลือกผลน้ำเต้ามาทำ คันพิณที่เรียกว่า ทวน ทำด้วยไม้เหลา ให้ปลายข้างหนึ่ง เรียวงอนโค้งขึ้นสำหรับผูกสาย ที่โคนทวน เจาะรูแล้วเอาไม้มาเหลาทำลูกบิด สำหรับบิดให้สายตึงหรือหย่อน เพื่อให้เสียงสูงต่ำ สายพิณมีสายเดียวเดิมทำด้วยเส้นหวาย ต่อมาใช้เส้นไหม และใช้ลวดทองเหลืองในปัจจุบัน

จะเข้
เป็นเครื่องดนตรีที่วางดีดตามแนวนอน ทำด้วยไม้ท่อนขุดเป็นโพรงอยู่ภายใน นิยมใช้ไม้แก่นขนุน เพราะให้เสียงกังวาลดี ด้านล่างเป็นพื้นไม้ ซึ่งมักใช้ไม้ฉำฉา เจาะรูไว้ให้เสียงออกดีขึ้น มีขาอยู่ตอนหัว ๔ ขา ตอนท้าย ๑ ขา มีสาย ๓ สาย คือ สายเอก(เสียงสูง) สายกลาง(เสียงทุ้ม) ทั้งสองสายนี้ทำด้วยเอ็นหรือไหมฟั่นเป็นเกลียว สายที่สามเรียก สายลวด(เสียงต่ำ) ทำด้วยลวดทองเหลือง ทั้งสามสายนี้ขึงจากหลักตอนหัวผ่าน โต๊ะ (กล่องทองเหลืองกลวง) ไปพาดกับ "หย่อง" แล้วสอดลงไปพันกันด้านลูกบิด(ปักทำด้วยไม้หรืองา) สายละลูก โต๊ะนี้ทำหน้าที่ขยายเสียงของจะเข้ให้คมชัดขึ้น ระหว่างราง ด้านบนกับสายจะเข้ จะมีชิ้นไม้เล็ก ๆ ทำเป็นสันหนาเรียกว่า "นม" ๑๑ นม วางเรียงไปตามแนวยาว เพื่อรองรับการกด จากนิ้วมือขณะบรรเลง นมเหล่านี้มีขนาดสูงต่ำลดหลั่นกันไป ทำให้เกิดเสียงสูง-ต่ำ เวลาดีดจะใช้ไม้ดีดที่ทำด้วยงาหรือเขาสัตว์ กลึงเป็นท่อนกลม ปลายเรียวแหลมมน ดีดปัดสายไปมา ไม้ดีดนี้จะพันติดกับนิ้วชี้มือขวา ส่วนมือซ้ายใช้กดนิ้วบนสายถัดจากนม ไปทางซ้ายเล็กน้อย เพื่อให้เกิดเสียงสูงต่ำตามที่ต้องการ

การประสมวงดนตรีไทย

การประสมวงดนตรีไทย สรุปได้ดังนี้

วงปี่พาทย์ คำว่า "ปี่พาทย์" หมายถึงการประสมวงที่มีปี่ และเครื่องเคาะ (ตี) ร่วมด้วย สมัยสุโขทัยได้เริ่มมี "วงปี่พาทย์เครื่องห้า" ขึ้นมาก่อน โดยใช้เครื่องดนตรี 5 ชิ้น คือ ปี่ ตะโพน ฆ้อง กลอง ฉิ่ง ต่อมาได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับจนเจริญถึงขีดสุดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีการเพิ่มระนาดเข้าไปในภายหลัง

วงปี่พาทย์ในปัจจุบันแบ่งออกได้ 7 แบบ ตามการจัดกลุ่มเครื่องดนตรีดังนี้

ปี่พาทย์ชาตรี ประกอบด้วย
  1. ปี่นอก
  2. ฆ้องคู่
  3. โทนชาตรี,
  4. กลองชาตรี
  5. ฉิ่ง
  6. กรับ
ปี่พาทย์เครื่องห้า ประกอบด้วย
  1. ปี่ใน
  2. ฆ้องวงใหญ่
  3. ระนาด
  4. ตะโพน
  5. กลองทัด
  6. ฉิ่ง
ปี่พาทย์เครื่องคู่ ประกอบด้วย
  1. ปีใน
  2. ปี่นอก
  3. ฆ้องวงใหญ่
  4. ฆ้องวงเล็ก
  5. ระนาดเอก
  6. ระนาดทุ้ม
  7. ตะโพน
  8. กลองทัด
  9. ฉิ่ง
  10. ฉาบ
  11. กรับ
  12. โหม่ง
ปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ประกอบด้วย
  1. ปีใน
  2. ปี่นอก
  3. ฆ้องวงใหญ่
  4. ฆ้องวงเล็ก
  5. ระนาดเอก
  6. ระนาดทุ้ม
  7. ระนาดเหล็ก
  8. ระนาดทุ้มเหล็ก
  9. ตะโพน
  10. กลองทัด
  11. ฉิ่ง
  12. ฉาบ
  13. กรับ
  14. โหม่ง

ปี่พาทย์นางหงส์ ประกอบด้วย
  1. ปี่ชวา
  2. ฆ้องวงใหญ่
  3. ฆ้องวงเล็ก
  4. ระนาดเอก
  5. ระนาดทุ้ม
  6. กลองมลายู
  7. ฉิ่ง
ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ประกอบด้วย
  1. ขลุ่ยเพียงออ
  2. ขลุ่ยอู้
  3. ฆ้องวงใหญ่
  4. ฆ้องหุ่ย
  5. ระนาดเอ
  6. ระนาดทุ้ม
  7. ระนาดทุ้มเหล็ก
  8. ซออู้
  9. ตะโพน
  10. กลองตะโพน
  11. กลองแขก
  12. ฉิ่ง
ปี่พาทย์มอญ ประกอบด้วย
  1. ปี่มอญ
  2. ฆ้องมอญ
  3. ระนาด
  4. เปิงมางคอก
  5. ตะโพนมอญ
  6. โหม่งมอญ
  7. ฉิ่ง
  8. ฉาบ
วงมโหรี ในสมัยอยุธยาวงมโหรีเกิดขึ้นมาจากการดัดแปลงวงขับไม้ในอดีต โดยนำพิณมาร่วมบรรเลงดัวย ซึ่งเดิมมีเครื่องดนตรีเพียง 2 ชิ้น แล้วเปลี่ยนคนขับลำนำมาเป็นคนร้อง และตีกรับพวง เปลี่ยนจากบัณเฑาะว์เป็นโทน พร้อมกับเพิ่มรำมะนา และขลุ่ยไปประสมร่วม

เครื่องดนตรีไทย ความหมายและความสำคัญ


ความหมายและความสำคัญของเครื่องดนตรีไทย

“เครื่องดนตรี” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นเครื่องบรรเลงซึ่งมีเสียงดัง ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน หรือเกิดอารมณ์รัก โศก และรื่นเริงได้ตามทำนองเพลง

ดังนั้น เครื่องดนตรีไทยจึงหมายถึง เครื่องบรรเลงซึ่งมีเสียงดัง ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน หรือเกิดอารมณ์รัก โศก และรื่นเริงได้ตามทำนองเพลง ซึ่งบรรพบุรุษของเราได้สร้างสมไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแต่โบราณกาล แสดงลักษณะเฉพาะของชาติไทย เช่นเดียวกับภาษา และ ศิลปวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ ควรแก่การที่เราชาวไทยจะภาคภูมิใจและช่วยกันทะนุบำรุง ส่งเสริมและรักษาไว้ให้ดำรงคงอยู่สืบไป

ฉะนั้น เราชาวไทยก็ควรที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดนตรีไทย และส่วนหนึ่งของดนตรีไทยก็คือ "เครื่องดนตรีไทย"

การศึกษาเรื่องราวของดนตรี เป็นการค้นหาหลักฐานสืบประวัติได้ยาก เพราะดนตรีเป็นการเลียนเสียงธรรมชาติ จึงเป็นการยากที่จะใช้เครื่องมือต่างๆ บันทึกเสียงดนตรีเหล่านั้นไว้เป็นหลักฐาน และในสมัยก่อนยังไม่มีผู้ประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียงขึ้น นอกจากจะมีผู้จดจำทำนองเพลงต่าง ๆ ขึ้นแล้วยอมถ่ายทอดให้คนอื่นได้ฟังเพลงนั้นบ้าง โดยเฉพาะ ดนตรีไทยนั้น ได้มีการบันทึกไว้ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เป็นต้นมา ซึ่งสมัยนั้น มีลักษณะเป็นการ ขับลำนำ และการร้องเล่น ในวรรณคีเรื่องไตรภูมิพระร่วง จะใช้เครื่องดนตรีในการเล่น ได้แก่ ฆ้อง กลอง แตร สังข์ ฉาบ พิณ บัณเฑาะว์ มโหระทึก ปี่ไฉน กรับ กังสดาล ระฆัง และซอ

ดนตรีไทย มีการบันทึกเป็นโน้ตตัวเลขเป็นครั้งแรก เมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 โดยหลวงประดิษฐไพเราะ ในการถ่ายทอดเพลงถ้าไม่ใช่ศิษย์รักจริงๆ ครูก็ไม่ถ่ายทอดให้ ในที่สุดเพลงนั้นก็หายตายไปกับครู เพลงที่เหลืออยู่ก็ มักไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด

ลักษณะีท่าทางในการเล่นดนตรีไทย มีลักษณะ ที่เป็นเอกลักษณ์ ที่ไม่เหมือนกับชาติอื่น ทำนองของเพลง จังหวะการเล่น การร้อง จะสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ ของผู้ร้องผู้เล่นได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่ได้จากการฟังดนตรีไทย

ทำให้ เกิดความบันเทิง ผ่อนคลาย มีสมาธิ ทำให้จิตใจร่าเริงแจ่มใส เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ และยังขัดเกลา ให้มนุษย์มีจิตใจที่ดีงาม

นอกจากดนตรีจะช่วยสร้าง ความสามัคคีแล้วยังก่อให้เกิดวัฒนธรรม ซึ่งก็คือ คนที่แต่งเนื้อร้อง หรือนักประพันธ์เพลงต้องยึดหลักเกณฑ์ ที่มีระเบียบวินัย และคำสอนต่างๆ สอดแทรกลงใน เนื้อหาของเพลง เพื่อให้คนฟังได้คิดตาม และยึดเป็นหลัก ในการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ก็ยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านภาษาให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้อีกทางหนึ่ง