วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องเป่า-ปี่)

ปี่

เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า ตามปรกติ "เลาปี่" ทำด้วยไม้แก่นหรือไม้จริง เช่น ไม้ชิงชัน ไม้พะยูง ต่อมามีผู้นำวัตถุอย่างอื่นมาทำเลาปี่เช่น งา ศิลา โดยกลึงให้เป็นรูปบานหัวบานท้าย ช่วงกลางป่อง เจาะภายในกลวงตลอด ทางหัวใส่ลิ้นเป็นช่องรูเล็ก ทางท้ายปากรูใหญ่ ใช้งา ชัน หรือวัตถุอย่างอื่นมาหล่อเสริมตอนหัวและตอนท้ายขึ้นอีกประมาณข้างละ0.5 ซม. เรียกว่า "ทวน" ทางหัวเรียกว่า "ทวนบน" และทางท้ายเรียกว่า "ทวนล่าง"
ช่วงป่องกลางนั้นเจาะรูนิ้วสำหรับเปลี่ยนเสียงเรียงลงมาตามข้างเลาปี่ 6 รู คือ รูตอนบนเจาะเรียงลงมา 4 รู แล้วเว้นระยะเล็กน้อยเจาะรูล่างอีก 2 รู ตอนกลางเลามักกลึงควั่นเป็นเกลียวคู่ 14 คู่ไว้ระยะพองาม และตอนหัวท้ายตรงคอดเล็กควั่นอีกข้างละ 4 เกลียว เกลียวควั่นเหล่า นี้กันลื่น และทำให้รูปของปี่สวยงามขึ้น ที่รูเป่าตอนทวนบนใส่ลิ้นปี่
สำหรับเป่า ลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลซ้อน4 ชั้น ตัดกลมผูกติดกับท่อลมเล็ก ๆ ซึ่งเรียกว่า "กำพวด" กำพวดนี้ทำด้วยทองเหลือง เงิน นาก หรือโลหะอื่น ๆ มีลักษณะเรียว ยาวประมาณ 5 ซม. วิธีผูกเชือกให้ลิ้นใบตาลติดกับกำพวดนั้นเรียกกันว่า "ผูกตะกรุดเบ็ด" หัวกำพวดที่จะสอดเข้าไปในช่องทวนบนโตกว่าทางปลายที่ผูกลิ้นใบตาลเล็กน้อย และมักใช้ถักหรือเคียนด้วยเส้นด้ายสอดเข้าไปในเลาปี่พอมิดที่พันด้าย
ปี่ชนิดนี้แต่เดิมคงจะใช้เป่านำวงดนตรี และใช้กับวงเครื่องตีเป็นพื้น จึงเรียกวงดนตรีชนิดนี้ว่า "วงปี่พาทย์" แต่ก่อนวงดนตรีวงหนึ่ง ๆ ใช้ปี่เพียงเลาเดียวสำหรับบรรเลงประกอบการเล่นหนังใหญ่ การแสดงโขน ละครนอก ซึ่งผู้ชายเป็นผู้แสดง
ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงละครในโดยใช้ผู้หญิงเป็นผู้แสดงและปรับปรุงโขนเป็นอย่างโขนโรงในขึ้น จึงแก้ไขเครื่องดนตรีให้เหมาะสม โดยเฉพาะปี่ที่ใช้เป่ากันมาแต่ก่อนนั้นได้แก้ไขขนาดและปรับเสียงใหม่ให้มีเสียงใหญ่และนุ่มนวลขึ้น
เรียกปี่ที่แก้ไขใหม่นี้ว่า "ปี่ใน" และเรียกปี่ที่ใช้อยู่เดิมว่า "ปี่นอก" ส่วนปี่ทีใช้เป่าประกอบการ เล่นหนังใหญ่ ซึ่งมีขนาดและสำเนียงอยู่กลางระหว่างปี่นอกกับปี่ในนั้น เรียกว่า "ปี่กลาง" ปี่ของไทยจึงมีขึ้นเป็น 3 ขนาด คือ

1. ปี่นอก ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 31 ซม. กว้างประมาณ 3.5 ซม.เป็นปี่ที่ใช้กันมาแต่เดิม เสียงของปี่นอกจะมีเสียงที่เล็กแหลม

2. ปี่กลาง ขนาดกลาง ยาวประมาณ 37 ซม. กว้างประมาณ 4 ซม.สำหรับเล่นประกอบการแสดงหนังใหญ่ มีสำเนียงเสียงอยู่ระหว่าง ปี่นอก กับปี่ใน เสียงของปี่กลางจะ ไม่แหลมหรือว่าต่ำเกินไปาแต่จะอยู่ในระดับปานกลาง

3. ปี่ใน ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 41-42 ซม. กว้างประมาณ 4.5 ซม.เป็นปี่ที่พระอภัยมณีใช้สำหรับเป่าให้นางผีเสื้อสมุทร (ในวรรณกรรมของสุนทรภู่) ขาดใจตายนั่นเอง โดยเสียงของปีในจะเป็นเสียงที่ต่ำ และเสียงใหญ่

ปี่ไฉน เป็นปี่สองท่อน ถอดออกจากกันได้ ท่อนบนเรียงยาว ปลายผายออกเล็กน้อยเรียกว่า "เลาปี่" ท่อนล่างปลายบานเรียกว่า "ลำโพง" ทำด้วยไม้หรืองา ปี่ชนิดนี้เข้าใจว่าได้แบบอย่างมาจาก เครื่องดนตรีของอินเดีย ซึ่งเป็นเครื่องเป่าที่ทำด้วยไม้ ไทยใช้ปี่ชนิดนี้ มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ปัจจุบันใช้ในขบวนแห่ คู่กับปี่ชวา จ่าปีใช้เป่านำกลองชนะในกระบวนพยุหยาตรา

ปี่ชวา เป็นปี่สองท่อน รูปร่างลักษณะเหมือนปี่ไฉน แต่ย่าวกว่า ทำด้วยไม้หรืองา เนื่องจามีขนาดยาวกว่าปี่ไฉน จึงให้เสียงแตกต่างไปจานปี่ไฉน เข้าใจว่าไทยนำปี่ชวาเข้ามาใช้คราวเดียวกับ กลองแขก จากหลักฐานพบว่ามีการใช้ปี่ชวา ในกระบวนพยุหยาตรา ในสมัยอยุธยาตอนต้น
ปี่มอญ เป็นปี่สองท่อน เหมือนปี่ชวา แต่มีขนาดใหญ่และยาวกว่า เลาปี่ทำด้วยไม้ ลำโพงทำด้วยโลหะ ใช้ บรรเลงในวงปี่พาทย์ มอญ หรือสมัยก่อนเรียกว่า ปีพาทย์รามัญ
ปี่ใน ปี่ใน เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าแบบมีลิ้น เข้าใจว่าที่เรียกว่าปี่น่าจะเรียกตามเสียงที่ได้ยิน มีลักษณะรูปร่าง การเปิดปิดนิ้วเปลี่ยนเสียงและวิธีการเป่าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อใดและใครเป็นคนสร้าง มีแต่เพียงข้อสันนิษฐาน ต่างๆเท่านั้น บ้างก็ว่าปี่ในมีพัฒนาการมาจากเรไร ซึ่งเป็นเครื่องเป่าแบบโบราณมีเสียงเดียว ทำจากไม้ซาง ๒ อัน เสียบเข้ากับลูกน้ำเต้า เพราะลักษณะของปี่ในที่ป่องตรง กลางอาจเป็นการรักษาลักษณะรูปแบบของลูกน้ำเต้า บ้างก็ว่าพัฒนามาจากการเป่าใบไม้และกอข้าวซึ่งยังปรากฏมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อความต้องการในการใช้งานมีมากขึ้น

ผู้ที่มีชื่อเสียงในการบรรเลงปี่ในในอดีต

1. พระประดิษฐ์ไพเราะ ( มี ดุริยางกูร)
2. พระยาประสานดุริยศัพท์ ( แปลก ประสานศัพท์)
3. พระยาเสนาะดุริยางค์ ( แช่ม สุนทรวาทิน)
4. ครูเทียบ คงลายทอง
5. ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล
6. ครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์

ในปัจจุบัน

1. อาจารย์บุญช่วย โสวัตร
2. อาจารย์ปี๊ป คงลายทอง
3. ครูกาหลง พึ่งทองคำ
4. ครูสะอิ้ง แก้วกระมล
5. อาจารย์อนันต์ สบฤกษ์