วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องตี-ระนาดเอก)



ระนาดเอก

ระนาดเอกเป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ที่วิวัฒนาการมาจากกรับ แต่เดิมคงใช้กรับสองอันตีเป็นจังหวะ ต่อมาก็เกิดความคิดว่า ถ้าเอากรับหลาย ๆ อันวางเรียงราดลงไป แล้วแก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน แล้วทำรางรองอุ้มเสียง และใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่าง ๆ กันนั้นให้ติดกัน และขึงไว้บนรางใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง นำตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งมาถ่วงเสียงโดยนำมาติดหัวท้ายของไม้กรับนั้น ให้เกิดเสียงไพเราะยิ่งขึ้น เรียกไม้กรับที่ประดิษฐ์เป็นขนาดต่างๆกันนั้นว่า ลูกระนาด เรียกลูกระนาดที่ผูกติดกันเป็นแผ่นเดียวกันว่า ผืน

ส่วนประกอบของระนาดเอก

ลักษณะงานดนตรีหรืองานดุริยางคศิลป์นั้นเป็นงานสาขาหนึ่งในงานศิลปะ บริสุทธิ์ จะเห็นได้ว่างานดนตรีกับงานศิลปะนั้นมีความสัมพันธ์และอาศัยซึ่งกันและกัน มีพื้นฐานในด้านความคิดที่สอดคล้องคล้ายคลึงกัน และกล่อมเกลาจิตใจคนให้มีความอ่อนโยนขึ้น ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับดนตรีดูได้จากการออกแบบสร้างเครื่องดนตรี โดยทั่วไปนักดนตรีมักจะเลือกซื้อเครื่องดนตรีชิ้นที่ตนเองชอบ และเลืกเครื่องดนตรีที่มีเสียงดีไว้ก่อน เมื่อได้เครื่องดนตรีที่มีเสียงดีตามต้องการแล้วจึงจะดูลักษณะเครื่องดนตรี ว่าสวยงามหรือไม่ รูปร่างหรือส่วนสัดของเครื่องดนตรีมีความสวยงามเหมาะสมเพียงใด ดังนั้นเครื่องดนตรีไทยทุกชนิดจะมีการประดับด้วยวัสดุที่งดงามและออกแบบลวดลายให้เกิดความสวยงามเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้อ จึงทำให้เกิดงานศิลปะในการประดับตกแต่งลวดลายบนเครื่องดนตรี ดังจะเห็นในส่วนประกอบของระนาดที่จะกล่าวถึงนี้

ส่วนประกอบของระนาดเอกนั้นแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1. รางระนาดเอก
2. ผืนระนาดเอก
3. ไม้ตีระนาด

รางระนาดเอก

รางระนาดเอกแบ่งเป็นส่วนประกอบย่อยๆดังนี้คือ

ตัวรางทำด้วยไม้เนื้อแข็งเช่น ไม้สัก ไม้มะริด ไม้มะเกลือ ไม้ประดู่ เป็นต้น รูปร่างคล้ายเรือสมัยโบราณ คือตอนกลางป่องเป็นกระพุ้งเล็กน้อยเพื่อให้เสียงก้องกังวาน ตอนหัวและท้ายโค้งงอนขึ้นเรียกว่า "ฝาประกบ" มี 2 แผ่น บนขอบรางด้านบนทั้งสองข้างของฝาประกบจะใช้หวายเส้นซึ่งมีผ้าพันโดยรอบ ติดเป็นแนวยาวไว้ตลอด เพื่อรองรับผืนระนาดขณะที่ลดลงจากตะขอเกี่ยว ป้องกันบริเวณใต้ท้องของผืนระนาดมิให้ถูกครูดเป็นรอยได้ง่าย ที่ขอบของฝาประกบด้านนอกจะเซาะร่องเดินเป็นคิ้วไว้เพื่อความสวยงาม นอกจากทาสีที่คิ้วขอบรางแล้ว ที่ไม้ฝาประกบยังเดินเส้นดำหรือขาวไปตามขอบคิ้วรางทั้งด้านล่างและด้านบนรวมไปถึงโขนระนาดด้วย บางรางเดินเส้นเดียวบางรางเดินคู่สองเส้นแล้วแต่รสนิยมของช่างผู้ประดิษฐ์ ต่อมาการสร้างรางระนาดได้มีการพัฒนาให้สวยงามขึ้นอีกโดยทำขอบคิ้ว ซึ่งประกอบด้วยงาช้างหรือตัวรางทั้งหมดแกะเป็น
ลวดลายต่างๆ บางทีก็ประดับลวดลายด้วยมุกหรือแกะลวดลายลงรักปิดทองเป็นต้น

โขนระนาด
เป็นไม้ 2 แผ่นรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ติดประกบไว้ที่หัวและท้ายของไม้ฝาประกบโดยเฉพาะด้านในตอนบนจะติด "ตะขอระนาด" ซึ่งทำด้วยโลหะโค้งงอ สำหรับสอดคล้องเชือกขึงผืนระนาดให้ลอยอยู่บนราง ด้านล่างของรางมีแผ่นไม้บางๆปิดไว้ยาวโดยตลอดเพื่อยึดฝาประกบและโขนให้ติดเข้าด้วยกันเรียกว่า "ไม้ปิดใต้ท้องระนาด" ทำให้อุ้มเสียงและระนาดมีเสียงดังกังวานมากขึ้น

เท้าระนาด (บางทีเรียกฐานระนาด) ทำด้วยไม้หนามีลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมคล้ายฐานของพานรอง ตรงกลางเป็นคอคอดส่วนตอนบนโค้ง
เว้าไปตามท้องราง เท้าระนาดยึดติดอยู่ที่กลางลำตัวของรางระนาดเพื่อให้หัวและท้ายของรางลอยตัวสูงขึ้น ฐานด้านล่างนิยมแกะสลักเป็น"ลายฐานแข้งสิงห์" ทั้ง 4 ด้าน ที่ฝาไม้ประกบตอนบนและตอนล่างจะใช้ไม้ติดประกบโดยตลอดเรียกว่า "คิ้วขอบราง" นิยมทาสีขาวหรือดำเพื่อตัดกับสีของแล็คเกอร์
ซึ่งทาไว้ที่ตัวรางระนาด

ผืนระนาด เดิมทำด้วยไม้ไผ่ตง(นักดนตรีเรียก ไผ่บง) นำมาตัดเหลาด้วยความประณีตเป็นลูกๆ มี 21 ลูก ขนาดลดหลั่นกันตามลำดับเรียกว่า " ผืนระนาด" ใช้แขวนที่ตะขอทั้ง 4 บนโขนระนาด ใต้ลูกระนาดทั้ง 21 ลูกจะติดตะกั่วซึ่งทำด้วย ตะกั่วและขี้ผึ้งผสมกัน เพื่อถ่วงเสียงให้ได้เสียงสูงเสียงต่ำตามต้องการโดยติดไว้ที่ใต้ลูกระนาดตรงด้านล่างของปลายลูกระนาดทั้ง สองข้างๆละ 1 ก้อน จำนวนที่ติดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับเสียงที่ต้องการ ถ้าติดมากเสียงจะต่ำลง ถ้าติดน้อยเสียงจะสูงขึ้น ต่อมาภายหลังนิยมนำ ไม้ชิงชัน หรือ ไม้มะหาด มาเหลาเป็นผืนระนาดได้เสียงเล็ก แหลมกว่าผืนระนาดที่ทำด้วยไม้ไผ่ นอกจากนั้นในสมัยปัจจุบันได้เพิ่มลูกระนาดเอกให้มี 22 ลูก เพื่อให้บรรเลงกับวงปี่พาทย์มอญได้สะดวก แต่ในวงปี่พาทย์เสภาเดิมไม่นิยม เพิ่มลูกระนาดคงใช้เพียง 21 ลูกเท่านั้น เมื่อเกิดวงมโหรีขึ้น เครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ต้องย่อสัดส่วนให้เล็กลงกว่าเดิม เรียกรางชนิดนี้ว่า "รางระนาดมโหรี" ซึ่งมีส่วนประกอบเช่นเดียวกับรางระนาดเดิมทุก อย่างเพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า

ไม้ตีระนาดเอกทำด้วยไม้ไผ่เหลาเป็นท่อนกลมเล็กๆ 2 อัน หัวไม้ตีทำด้วย ด้ายพันด้วยผ้าชุบรัก ลักษณะเป็นปื้นกลมเวลาตีมีเสียงดังแข็งกร้าวเรียกว่า "ไม้แข็ง" อีกแบบทำด้วยผ้าติดตะกั่วเล็กน้อยทาแป้งเปียกแล้วพันด้วยด้ายสีเส้นเล็กๆโดย รอบอย่างสวยงาม เวลาตีมีเสียงทุ้มนุ่มนวลเรียกว่า "ไม้นวม" ใช้ตีกับระนาดเอกในวงปี่พาทย์ไม้ นวมหรือวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์

ลวดลายบนรางระนาดเอก

ลวดลายที่นิยมทำบนรางระนาดเอกมีหลายแบบแต่แยกเป็นประเภทใหญ่ๆได้ ดังนี้คือ

รางระนาดแบบไทย

ไม่นิยมแกะสลักลวดลายแต่จะทำเป็นพื้นเรียบๆ บางครั้ง มีตัวอักษรย่อฝังตรงกลางของฝารางทั้งสองข้างเช่น พระนามย่อของเจ้าฟ้าฯ ชื่อย่อของ สถาบันชื่อย่อของบุคคล หรือชื่อย่อนามสกุลเป็นต้น บางทีก็มีการเดินคิ้วขอบรางหรือขอบโขนระนาดด้วยงาช้างและนิยมใช้งาช้างที่เป็นเนื้อเดียวกันตลอดซึ่งหายากถือกันว่าเป็นงานชิ้นยอด ระนาดบางรางอาจจะต้องนำเศษงาช้างมาต่อกันเพราะไม่สามารถหางาช้างที่เป็นชิ้น เดียวกันทั้งหมดได้ ในกรณีที่ไม่ได้ใช้งาช้างก็จะใช้ไม้ซึ่งมีสีแตกต่างกันเดินคิ้วแทนเช่นพื้นอ่อนคิ้วสีเข้มหรือพื้นเข้มเดินคิ้วด้วยสีอ่อน

รางระนาดแบบของมอญจะนิยมแกะสลักและลงรักปิดทอง เรียกกันว่า รางทอง ซึ่งต่อมีผู้กล่าวกันว่า ระนาดเอกรางทอง ของวงปี่พาทย์ไทยนั้นได้รับอิทธิพลมาจากวงปี่พาทย์มอญภายหลังจึงนำรางทองมาใช้ในวงปี่พาทย์ไทย

รางระนาดแบบฝรั่ง รูปร่างรางระนาดจะแตกต่างจากรางไทยคือมีลักษณะลวด ลายแบบฝรั่งเช่นลาย ดอกพุดตาน ลายดอกไม้ฝรั่ง เป็นต้น รางระนาดเอกซึ่งมีีการออกแบบตกแต่งอย่างสวยงาม

ระนาดเอกเป็นเครื่องดนตรีชิ้นนำของวงปี่พาทย์เพราะไม่ว่าจะเริ่มเล่นเพลง หรือ เปลี่ยนเพลงทั้งวงจะยึดแนวของระนาดเอกเป็นหลัก นอกจากนี้ระนาดเอกยังเป็นเครื่อง ดนตรีหลักในการผสมวงเช่น ปี่พาทย์เครื่องห้า ปี่พาทย์เครื่องคู่ ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ปี่พาทย์มอญ ปี่พาทย์นางหงส์ หรือแม้แต่ในวงมโหรีไม่ว่าจะเป็นมโหรีเครื่องเล็ก มโหรี เครื่องคู่ หรือ มโหรีเครื่องใหญ่ ต่างก็ใช้ระนาดเอกเป็นหลักทั้งสิ้น

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องตี-ระนาดทุ้ม)


ระนาดทุ้ม

เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นมาในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ลักษณะเด่นของระนาดทุ้ม เป็นการสร้างเลียนแบบระนาดเอก ใช้ไม้ชนิดเดียว กันกับระนาดเอก ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน17 หรือ 18 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 42 ซม กว้าง 6 ซม และลดหลั่นลงมาจนถึงลูกยอด ที่มีขนาดยาว 34 ซม กว้าง 5 ซม รางระนาดทุ้มนั้นประดิษฐ์ให้มีรูปร่างคล้ายหีบไม้ แต่เว้าตรงกลางให้โค้ง โขนปิดหัวท้ายเพื่อ เป็นที่แขวนผืนระนาดนั้น ถ้าหากวัดจากโขนด้านหนึ่งไปยังโขนอีกด้านหนึ่ง รางระนาดทุ้มจะมีขนาดยาวประมาณ 124 ซม ปาก รางกว้างประมาณ 22 ซม มีเท้าเตี้ย รองไว้ 4 มุม ราง

หน้าที่ของระนาดทุ้มในวงนั้น ทำหน้าที่เดินทำนองรอง ในทางของตนเอง ซึ่งจะมีจังหวะโยน ล้อ ขัด ที่ทำให้เกิดความไพเราะและเติมเต็มช่องว่างของเสียง อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของระนาดทุ้ม


ระนาดทุ้มเหล็ก

ระนาดทุ้มเหล็ก เป็นเครื่องดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริให้สร้างขึ้น

ลักษณะเด่นของระนาดทุ้มเหล็ก ลูกระนาดทำอย่างเดียวกับระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็กมีจำนวน 16 หรือ 17 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 35 ซม กว้างประมาณ 6 ซมและลดหลั่นลงไปจนถึงลูกยอดซึ่งยาวประมาณ 29 ซม กว้างประมาณ 5.5 ซม ตัวรางระนาดยาวประมาณ 1 เมตร ปากราง กว้างประมาณ 20 ซม มีชานยื่นออกไปสองข้างราง ถ้านับส่วนกว้างรวมทั้งชานทั้งสองข้างด้วย รางระนาดทุ้มเหล็กจะกว้าง ประมาณ 36 ซม มีเท้ารองติดลูกล้อ 4 เท้า เพื่อให้เคลื่อนที่ไปมาได้สะดวก ตัวรางสูงจากพื้นถึงขอบบนประมาณ 26 ซมระนาด ทุกชนิดที่กล่าวมานั้น จะใช้ไม้ตี2 อัน

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องตี-ระนาด)

ระนาด

เป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ว่ามีวิวัฒนาการมาจาก กรับ แต่เดิมก็คงใช้ไม้กรับ 2 อันตีเป็นจังหวะแล้วต่อมาเกิดความรู้เอาไม้มาทำอย่างกรับหลายๆอัน วางเรียงตีให้เกิดเสียงหยาบๆขึ้นก่อนแล้วคิดทำไม้ รองรับเป็นรางวางเรียงราดไป เมื่อเกิดความรู้ความชำนาญขึ้นก็แก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน และทำรางรองให้อุ้มเสียงได้แล้วใช้เชือกร้อย "ไม้กรับ" ขนาดต่างๆนั้นให้ขึงติดอยู่บนราง ใช้ไม้ตีเกิดเสียงลดลั่นกันตามต้องการ ใช้เป็นเครื่องบรรเลงเพลงได้แล้วต่อมาก็ประดิษฐ์แก้ไขตัดแต่งใช้ตะกั่วกับขี้ผึ้งผสมกันติดหัวท้ายของไม้กรับถ่วงเสียงให้เกิดความไพเราะยิ่งขึ้น

จึงบัญญัติชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า "ระนาด" เรียก "ไม้กรับ" ที่ประดิษฐ์ขนาดต่างๆนั้นว่า "ลูกระนาด" และเรียกลูกระนาดที่ร้อยเชือกเข้าไว้เป็นแผ่นเดียวกันว่า "ผืน" นิยมใช้ไม้ไผ่บงมาทำเพราะว่าได้เสียงดี ทำรางเพื่อให้อุ้มเสียงเป็นรูปคล้ายลำเรือ ทางหัวและท้ายโค้งขึ้น เรียกว่า "ราง(ระนาด)" เรียกแผ่นปิดหัวและท้ายรางระนาดว่า "โขน" และเรียกรวมทั้งรางและผืนรวมกันเป็นลักษณะนามว่า "ราง" แต่เดิมมา ดนตรีวงหนึ่ง ก็มีระนาดเพียงรางเดียว และระนาดแต่เดิมคงมีจำนวนลูกระนาดน้อยกว่าในปัจจุบันนี้

ต่อมาได้เพิ่มลูกระนาดมากขึ้น และเมื่อมาคิดประดิษฐ์ระนาดอีกชนิดหนึ่งให้มีเสียงทุ้ม ฟังนุ่มไม่แกร่งกร้าวเหมือนชนิดก่อน จึงเลยเรียกระนาดอย่างใหม่นั้นว่า "ระนาดทุ้ม" และเรียกระนาดอย่างเก่าว่า "ระนาดเอก" เป็นคำผสมขึ้นในภาษาไทย ระนาดเอกปัจจุบันมีจำนวน 21 ลูก ลูกต้น ขนาดยาวราว 3๙ ซม. กว้างราว 5ซม. และหนา 1.5 ซม. ลูกต่อมาก็ลดหลั่นกันลงไปจนลูกที่ 21 หรือลูกยอด มีขนาดยาว 29 ซม. ลูกระนาดเหล่านั้นร้อยเชือกแขวนบนรางและรางนั้นวัดจาก "โขน" อีกข้างหนึ่ง ประมาณ 120 ซม. มีเท้ารองรางตรงส่วนโค้งตอนกลางเป็นเท้าเดี่ยว รูปอย่างพานแว่นฟ้า เครื่องดนตรีชนิดนี้ ปรากฏมีทั้งของชวา ของมอญและของพม่า ซึ่งพม่าเรียกว่า ปัตตลาร์ (Pattalar หรือBastran)

ระนาด เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง จัดเป็นเครื่องดนตรีชนิดเครื่องตี ประกอบด้วย ลูกระนาด ร้อยด้วยเชือก เรียกว่า "ผืน" แขวนไว้กับ ราง ซึ่งทำหน้าที่รองรับลูกระนาด (แขวนลอย ไม่ได้วางรายกับราง) และทำหน้าที่เป็นกล่องเสียงด้วย ผู้เล่นจะใช้ ไม้ตี จำนวน 2 อัน สำหรับตีลูกระนาดให้เกิดเป็นท่วงทำนอง

ไม้ตีระนาด มีด้วยกัน 2 แบบ คือ

1 ไม้นวม จะให้เสียงทีฟังแล้วรู้สึกได้ถึงความไพเราะ นุ่มนวลที่หัวของไม้ จะใช้ผ้าพันให้เป็นนวมก่อนจากนั้นจะใช้เส้นได้พันทับอีกที ไม้ตีระนาดชนิดนี้นิยมใช้เล่นบรรเลงในวงมโหรี,วงปี่พาทย์ไม้นวม
2 ไม้แข็ง ซึ่งจะให้เสียงที่ฟังแล้วรู้สึกถึงความมีอำนาจ และแข็งแกร่ง ลักษณะของไม้จะพันเช่นเดียวกันกับไม้นวม เพียงแต่จะชุบด้วย "รัก" เป็นระยะ และที่ชั้นนอกสุด แล้วจึงพันอีกครั้งด้วยผ้าดิบบางๆเป็นอันเสร็จ ทำให้ได้หัวไม้ที่แข็ง และสังเกตได้ง่ายๆที่สีของหัวไม้ซึ่งจะดำสนิท

ระนาดของไทย มี 4 ชนิด ดังนี้

  1. ระนาดทุ้ม
  2. ระนาดทุ้มเหล็ก
  3. ระนาดเอก
  4. ระนาดเอกเหล็ก

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องตี-อังกะลุง)


อังกะลุง

อังกะลุง เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง ทำจากไม้ เล่นด้วยการเขย่าให้เกิดเสียง นับเป็นเครีองดนตรีประเภทตี มีที่มาจากประเทศอินโดนีเซีย ใน ภาษาอินโดนีเซียเรียกว่า อังคะลุง หรือ อังกลุง (Angklung)

ประวัติอังกะลุง

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ได้รับความสุขโดยทั่วกัน หากผู้ใดได้รับทุกข์หรือเดือดร้อนประการใดพระองค์ทรงหาหนทางช่วยเหลือเสมอ ครั้งนั้นปรากฏว่า สมเด็จเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าพระยาภานุพันธ์วงค์วรเดช ทรงกลัดกลุ้มพระทัย เมื่อพระองค์ทรงทราบ จึงมีรับสั่งให้เข้าเผ้าเพื่อทรงไต่ถามทุกข์สุข เนื่องจากเสด็จในกรมเป็นอนุชาที่แสนเสน่หา พระองค์ทรงเห็นความทุกข์นั้น จึงทรงแนะนำและอนุญาตให้หาที่เสด็จประพาสให้ทรงเกษมสำราญ กรมสมเด็จพระอนุชาพอพระทัยทรงรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น จึงทรงดำริว่าจะเสด็จประพาสประเทศชวา

ดังนั้นในวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2450 สมเด็จเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าพระยาภานุพันธ์วงค์วรเดช จึงเสด็จจากกรุงเทพมหานคร มุ่งไปยังเมืองได ของประเทศชวาเป็นแห่งแรก และทรงตั้งพระทัยว่าจะเสด็จไปยังตำบล มาโตเออ การเดินทางไปลำบากมาก เนื่องจากยังไม่มียานพาหนะ เมื่อเสด็จถึงตำบลมาโตเออ พวกประชาชนมีอยู่ประมาณ 10 หมู่บ้าน ต่างก็พากันมาต้อนรับพระองค์ อย่างคับคั่งสมพระเกียรติในขณะที่ทรงประทับเยี่ยมเยียนราษฎรตำบลนั้น บรรดาชาวบ้านต่างนัด จัดดนตรี อย่างที่เรียกว่ากำมาลัง (มี ปีพาทย์ ฆ้อง กลอง ) นำมาเสดงถวายให้ทอดพระเนตร ประชันกันถึง 7 วงในหมู่ดนตรี มีแปลกอยู่ชนิดหนึ่ง ทำด้วยไม้ไผ่เป็นท่อน ๆ แขวนไว้เป็นตับ ตับละ 2 ท่อน ใช้ถือคนละ 1 ตับ ใช้เข่าเรียงเสียง และสลับเสียงไปตามทำนองของเพลงต่าง ๆ ได้ไพเราะน่าฟังมา ผิดกับเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ ที่ใช้บรรเลงด้วย ดีด สี ตี เป่า แต่ดนตรีชนิดนี้ใช้บรรเลงด้วยเข่าให้ขาส่วนล่างของกระบอกทั้งสองขาที่แขวนอยู่ในรางกระทบหรือตัวรางข้างหนึ่ง และอีกข้างหนึ่ง เช็คเสียงดังตามที่เทียบกระบอกเสียงไว้ เป็นเสียงสูงหรือต่ำกระบอกเสียง ใหญ่ กลาง เล็ก ผูกแขวนไว้รางเป็นตับ ๆ เมื่อเข่าไปตามเสียงทำนองของเพลงที่สับสน วนเวียน ตรงความเคลื่อนไหวของเสียงตามทำนองเพลงนั้น ๆ ได้น่าฟังมาก ดนตรีชนิดนี้แหละเรียกว่า "อังกะลุง" ในโอกาสนี้หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้ติดตามเสด็จไปด้วย

เมื่อพระองค์เสด็จกลับเมืองไทย จึงมีรับสั่งให้กงศุลไทยในชวา ซื้อดนตรีชนิดนี้ส่งมา 1 ชุด แล้วทรงนำดนตรีชนิดนี้ฝึกสอนมหาดเล็กของพระองค์ในวังบูรพาก่อน จึงเกิดมีดนตรีชนิดนี้ขึ้นในเมืองไทย ต่อมาก็ได้แพร่หลาย ออกไปทั่วประเทศ ดังนั้นจึงถือว่าพระองค์เป็นเจ้านายคนแรกที่ให้กำเนิดดนตรีชนิดนี้ขึ้นในประเทศไทย ทั้งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า อังกะลุงนี้ เป็นดงตรีที่แปลกชนิดหนึ่งผู้บรรเลงทุก ๆ คนต้องมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันตลอดเวลาที่บรรเลงเพลงทุก ๆ เพลงได้ ทั้งผู้เขย่าก็มีความสนุกสนานมากบางคนถึงกับเขย่าไปตามทำนองเพลงและมีผู้ประดิษฐ์ขึ้นในเมืองไทยสามารถทำเสียงสูงและต่ำกระบอกเสียงใหญ่ กลาง เล็ก ด้วยไม้ไผ่สายธรรมชาติ ตลอดจนรูปของตับอังกะลุง ได้ดัดแปลงแก้ไข ให้สวยงามและเหมาะสมให้ผิดไปจากของเดิมมากมาย อังกะลุงชวาที่นำเข้ามาครั้งแรกเป็นอังกะลุงชนิดคู่ ไม้ไผ่ 2 กระบอก มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก ยกเขย่าไม่ได้ ต้องใช้วิธีการบรรเลงแบบชวา คือมือหนึ่งถือไว้ อีกมือหนึ่งไกวให้เกิดเสียงอังกะลุงที่นำเข้ามาสมัยนั้น มี 5 เสียง ตามระบบเสียงดนตรีของชวา ทำด้วยไม้ไผ่ทั้งหมด ทั้งตัวอังกะลุงและราง ถายหลังได้มีการพัฒนาโดยขยายจำนวนไม้ไผ่เป็น 3 กระบอก และลดขนาดให้เล็กและเบาลงเพิ่มเสียงจนครบ 7 เสียง ในสมัยรัชกาลที่ 6 เชื่อกันว่า มีการพัฒนาการบรรเลง จากการไกว เป็นการเขย่าแทน

แบบของการบรรเลงอังกะลุงในปัจจุบัน

หลวงประดิษฐ์ไพเราะได้นำวงอังกะลุงจากวังบูรพาภิรมย์ไปแสดงครั้งแรกในงานทอดกฐินหลวง ที่วัดราชาธิวาส ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยทั่วไปเครื่องหนึ่งจะมีเสียงเดียว การเล่นอังกะลุงให้เป็นเพลงจึงต้องใช้อังกะลุงหลายเครื่อง โดยมักจะให้นักดนตรีถืออังกะลุงคนละ 1 - 2 เครื่อง เมื่อต้องการโน้ต เสียงใด นักดนตรีประจำเสียงนั้นก็จะเขย่าอังกะลุง การเล่นอังกะลุงจึงต้องอาศัยความพร้อมเพรียงเป็นอย่างมาก นอกจากอังกะลุงเครื่องละหนึ่งเสียงแล้ว ยังมีการผลิตอังกะลุงที่มีเครื่องหนึ่งมากกว่า 1 เสียงด้วย เรียกว่า อังกะลุงราว

ส่วนประกอบอังกะลุง

1. ไม้ไผ่ลาย ต้องเป็นไม้ที่มีความแกร่ง คือมีเนื้อไม้แข็งได้ที่ จึงจะมีเสียงไพเราะ และจะต้องมีลายที่สวยงาม ตัดไม้ให้เป็นท่อนตามขนาดที่ต้องการ แล้วนำมาตากแห้งย่างไม้กับไฟอ่อน ๆ นำมาอาบน้ำยากันมอด บ่มไม้โดยใช้ผ้าคลุ่มจะช่วยป้องกันมอดได้ หลังจากนั้นจึงนำมาเหลาตามเสียงที่ต้องการไม้ไผ่ลายเป็นไม้ไผ่ประเภทหนึ่ง ที่ปล่องไม้จะมีลายด่างเหมือนตกกระ เป็นโดยธรรมชาติทั่วทุกปล้อง จะเห็นลายเด่นชัดเมื่อมันแก่ เนื้อไม้ค่อนข้างบางเบาแต่แข็งแกร่ง ยิ่งแก่ก็ยิ่งแข็งแต่โบราณช่างทำดอกไม้ไฟจะนำมาประกอบการทำดอกไม้ไฟที่มีชื่อว่า “ ช้างร้อง ”เพราะทำให้้เกิดเสียง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จะหาไม้ไผ่ชนิดนี้ได้ง่ายแถบชานเมืองกรุงเทพส่วนมากจะขึ้นตามป่าช้าตามวัด (ที่ฝังศพ หรือเก็บศพก่อนเผา) ต่อมาก็มีคนนำมาปลูกตามสวนแต่ในปัจจุบันมักจะหาดูได้ในบางท้องที่ เช่นนนทบุรี ปราจีนบุรี เป็นต้น
2. รางไม้ เดิมจะใช้ไม้สักทองขุดเป็นราง เพื่อให้วางขาที่ฐานกระบอกลงในร่องที่ขุด ร่องที่เจาะจะมี 3 ร่อง และรูกลมอีก 5 รู สำหรับตั้งเสายึดตัวกระบอกอังกะลุง
3. เสาอังกะลุง มักทำด้วยไม้ไผ่เหลาเกลาหรือกลึงจนกลมเรียบ มีความยาวตามความสูงของกระบอกอังกะลุง ขนาดโตกว่ารูที่รางเล็กน้อย
4. ไม้ขวาง ทำจากไม้ไผ่เหลาแบบ ส่วนกลางปาดเนื้อไม้เป็นร่องลึกพอประมาณใช้สำหรับสอดผ่านช่องกระบอกอังกะลุง เพื่อยึดตัวกระบอกกับเสา
5. เชือก, กาว ใช้เป็นตัวยึดระหว่างไม้ขวาง กับเสา
6. สี, น้ำมันชักเงา ใช้ตกแต่งตัวอังกะลุงให้มีความสวยงาม เป็นเงางาม

ส่วนประกอบต่าง ๆ ของอังกะลุงจะนำมาประกอบขึ้นเป็นอังกะลุง 1 ตับ โดยการนำเอากระบอกไม้ไผ่ลายที่เหลาและเทียบเสียงอย่างถูกต้องแล้ว (เทียบกับขลุ่ยเพียงออ ระนาด หรือกับเครื่องดนตรีสากล เช่น ปี่คลาริเนต เมโลดิก้า ออร์แกน ) จำนวน 3 กระบอก 3 ขนาด ( แต่ละกระบอกจะมีเสียงสูง กลาง ต่ำ แต่อยู่ในระดับเสียงเดียวกัน ) มาเจาะรูปพระจันทร์ครึ่งซีก นำมาประกอบกับรางไม้ ยึดกับเสา และไม้ขวางด้วยเชือกและกาว แล้วนำมาตกแต่งด้วยสีหรือน้ำมันเคลือบเงา

อังกะลุง เป็นเครื่องดนตรีที่ทำด้วยวัสดุธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่จึงมักจะชำรุดง่าย โดยเฉพาะอันตรายจากตัวมอดซึ่งเป็นตัวทำลายเนื้อไม้ให้ผุ เมื่อมอดกินเนื้อไม้ จะทำให้น้ำหนักของอังกะลุงจะเบาขึ้น เสียงก็จะเปลี่ยนไป การที่นำอังกะลุงมาบรรเลงบ่อย ๆอย่างสม่ำเสมอ จะมีผลดี คือทำให้มอดไม่กินหรือกินบ้างแต่ก็ช้าลง แต่ถ้าเก็บไว้เฉย ๆ จะทำให้เสียง่าย การวางอังกะลุง ก็ควรวางเบา ๆ และจะต้องพิงไว้ในลักษณะเอียงเอนเสมอ เพื่อป้องกันการตก หรือล้มกระแทกซึ่งอาจทำให้้กระบอกอังกะลุงแตกได้ สภาพดินฟ้าอากาศก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เสียงเพี้ยนได้ โดยเฉพาะความชื้น การบรรเลงในห้องปรับอากาศก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้เสียงของอังกะลุง เปลี่ยนไปจากเดิมได้

วงอังกะลุง

อังกะลุงอาจเล่นเป็นวงดนตรีอังกะลุงโดยเฉพาะ หรือเล่นรวมกับเครื่องดนตรีอื่นๆ ก็ได้ มักพบในวงดนตรีของสถาบันการศึกษา มากกว่าวงดนตรีอาชีพ

วงอังกะลุงวงหนึ่งจะมีอังกะลุงอย่างน้อย 7 คู่ และมีเครื่องประกอบจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง, ฉาบเล็ก, กรับ, โหม่ง, กลองแขก นอกจากนี้มักมีเครื่องตกแต่งเพื่อเพิ่มความสวยงาม เช่น ธงชาติ, หางนกยูง เป็นต้น

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องตี-ฉิ่ง/ฉาบ)

ฉิ่ง


เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทตี ทำด้วยทองเหลือง หล่อหนา ปากผายกลม 1 ชุดมี 2 ฝา ฉิ่งมี 2 ชนิดคือ ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์ และ ฉิ่งที่ใช้สำหรับวงเครื่องสาย และวงมโหรี ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์มีขนาดที่วัดฝ่านศูนย์กลาง จากขอบข้างหนึ่งไปสุดขอบอีกข้างหนึ่ง กว้างประมาณ 6 – 6.5 ซม เจาะรูตรงกลางสำหรับร้อยเชือก เพื่อให้จับสะดวกขณะตี ส่วนฉิ่งสำหรับวงเครื่องสายและวงมโหรีนั้น มีขนาดเล็กกว่า วัดผ่านศูนย์กลางได้ขนาดประมาณ 5.5 ซม เนื่องจากการตีฉิ่ง ต้องเอาขอบของฝาข้างหนึ่งกระทบกับอีกฝากหนึ่ง แล้วยกขึ้น ก็จะมีเสียงดังกังวานยาวดัง “ฉิ่ง” แต่ถ้าเอาทั้ง 2 ฝานั้นกระทบและประกบกันไว้ จะได้ยินเสียงดังสั้นๆดัง “ฉับ” ดังนั้นการเรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า ฉิ่ง ก็เพราะเรียกตามเสียงที่เกิดขึ้นนั่นเอง

การตีฉิ่ง

เสียงของฉิ่งมี 2 เสียงคือ จังหวะเบา มีเสียงเป็น "ฉิ่ง" และจังหวะหนักมีเสียงเป็น "ฉับ" เสียงฉับถือว่าเป็นเสียงจังหวะตก การตีฉิ่งที่ถูกต้องจะต้องให้เสียง "ฉับ" อยู่ที่จังหวะตก หรือสิ้นสุดของจังหวะ ถ้าหากสิ้นจังหวะเป็น "ฉิ่ง" จะทำให้กลางเป็นเสียง "ฉับ ฉิ่ง" ถือว่าตีผิดวิธี และเรียกการตีฉิ่งอย่างนี้ว่า ตีฉิ่งหงาย ไม่ใช่หงายฉิ่ง ทำให้ผู้ฟังเกิดความรำคาญได้

ฉาบ


ฉาบเป็นเครื่องดนตรีประเภทตี ประกอบจังหวะ ทำด้วยโลหะคล้ายฉิ่ง แต่หล่อให้บางกว่า ฉาบมี 2 ชนิดคือฉาบเล็ก และ ฉาบใหญ่ ฉาบเล็กมีขนาด ที่วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 –14 ซม ส่วนฉาบใหญ่มีขนาดที่วัดผ่าน ศูนย์กลางประมาณ 24 –26 ซม เวลาบรรเลงใช้ 2 ฝามาตีกระทบกันให้เกิดเสียงตามจังหวะ เมื่อฉาบทั้งสองข้างกระทบกันขณะตีประกบกันก็ จะเกิดเสียง ฉาบ แต่ถ้าตีแล้วเปิดเสียงก็จะได้ยินเป็น แฉ่ง แฉ่ง แฉ่ง เป็นต้น