วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ประเภทของเครื่องดนตรีไทย(เครื่องตี-ระนาด)

ระนาด

เป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ว่ามีวิวัฒนาการมาจาก กรับ แต่เดิมก็คงใช้ไม้กรับ 2 อันตีเป็นจังหวะแล้วต่อมาเกิดความรู้เอาไม้มาทำอย่างกรับหลายๆอัน วางเรียงตีให้เกิดเสียงหยาบๆขึ้นก่อนแล้วคิดทำไม้ รองรับเป็นรางวางเรียงราดไป เมื่อเกิดความรู้ความชำนาญขึ้นก็แก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน และทำรางรองให้อุ้มเสียงได้แล้วใช้เชือกร้อย "ไม้กรับ" ขนาดต่างๆนั้นให้ขึงติดอยู่บนราง ใช้ไม้ตีเกิดเสียงลดลั่นกันตามต้องการ ใช้เป็นเครื่องบรรเลงเพลงได้แล้วต่อมาก็ประดิษฐ์แก้ไขตัดแต่งใช้ตะกั่วกับขี้ผึ้งผสมกันติดหัวท้ายของไม้กรับถ่วงเสียงให้เกิดความไพเราะยิ่งขึ้น

จึงบัญญัติชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า "ระนาด" เรียก "ไม้กรับ" ที่ประดิษฐ์ขนาดต่างๆนั้นว่า "ลูกระนาด" และเรียกลูกระนาดที่ร้อยเชือกเข้าไว้เป็นแผ่นเดียวกันว่า "ผืน" นิยมใช้ไม้ไผ่บงมาทำเพราะว่าได้เสียงดี ทำรางเพื่อให้อุ้มเสียงเป็นรูปคล้ายลำเรือ ทางหัวและท้ายโค้งขึ้น เรียกว่า "ราง(ระนาด)" เรียกแผ่นปิดหัวและท้ายรางระนาดว่า "โขน" และเรียกรวมทั้งรางและผืนรวมกันเป็นลักษณะนามว่า "ราง" แต่เดิมมา ดนตรีวงหนึ่ง ก็มีระนาดเพียงรางเดียว และระนาดแต่เดิมคงมีจำนวนลูกระนาดน้อยกว่าในปัจจุบันนี้

ต่อมาได้เพิ่มลูกระนาดมากขึ้น และเมื่อมาคิดประดิษฐ์ระนาดอีกชนิดหนึ่งให้มีเสียงทุ้ม ฟังนุ่มไม่แกร่งกร้าวเหมือนชนิดก่อน จึงเลยเรียกระนาดอย่างใหม่นั้นว่า "ระนาดทุ้ม" และเรียกระนาดอย่างเก่าว่า "ระนาดเอก" เป็นคำผสมขึ้นในภาษาไทย ระนาดเอกปัจจุบันมีจำนวน 21 ลูก ลูกต้น ขนาดยาวราว 3๙ ซม. กว้างราว 5ซม. และหนา 1.5 ซม. ลูกต่อมาก็ลดหลั่นกันลงไปจนลูกที่ 21 หรือลูกยอด มีขนาดยาว 29 ซม. ลูกระนาดเหล่านั้นร้อยเชือกแขวนบนรางและรางนั้นวัดจาก "โขน" อีกข้างหนึ่ง ประมาณ 120 ซม. มีเท้ารองรางตรงส่วนโค้งตอนกลางเป็นเท้าเดี่ยว รูปอย่างพานแว่นฟ้า เครื่องดนตรีชนิดนี้ ปรากฏมีทั้งของชวา ของมอญและของพม่า ซึ่งพม่าเรียกว่า ปัตตลาร์ (Pattalar หรือBastran)

ระนาด เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง จัดเป็นเครื่องดนตรีชนิดเครื่องตี ประกอบด้วย ลูกระนาด ร้อยด้วยเชือก เรียกว่า "ผืน" แขวนไว้กับ ราง ซึ่งทำหน้าที่รองรับลูกระนาด (แขวนลอย ไม่ได้วางรายกับราง) และทำหน้าที่เป็นกล่องเสียงด้วย ผู้เล่นจะใช้ ไม้ตี จำนวน 2 อัน สำหรับตีลูกระนาดให้เกิดเป็นท่วงทำนอง

ไม้ตีระนาด มีด้วยกัน 2 แบบ คือ

1 ไม้นวม จะให้เสียงทีฟังแล้วรู้สึกได้ถึงความไพเราะ นุ่มนวลที่หัวของไม้ จะใช้ผ้าพันให้เป็นนวมก่อนจากนั้นจะใช้เส้นได้พันทับอีกที ไม้ตีระนาดชนิดนี้นิยมใช้เล่นบรรเลงในวงมโหรี,วงปี่พาทย์ไม้นวม
2 ไม้แข็ง ซึ่งจะให้เสียงที่ฟังแล้วรู้สึกถึงความมีอำนาจ และแข็งแกร่ง ลักษณะของไม้จะพันเช่นเดียวกันกับไม้นวม เพียงแต่จะชุบด้วย "รัก" เป็นระยะ และที่ชั้นนอกสุด แล้วจึงพันอีกครั้งด้วยผ้าดิบบางๆเป็นอันเสร็จ ทำให้ได้หัวไม้ที่แข็ง และสังเกตได้ง่ายๆที่สีของหัวไม้ซึ่งจะดำสนิท

ระนาดของไทย มี 4 ชนิด ดังนี้

  1. ระนาดทุ้ม
  2. ระนาดทุ้มเหล็ก
  3. ระนาดเอก
  4. ระนาดเอกเหล็ก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น